ข่าวท่องเที่ยว - มิวเซียมสยาม จับมือ พันธมิตร ลงนามMOUพัฒนาสองแหล่งเรียนรู้ จังหวัดจันทบุรี
มิวเซียมสยาม จับมือ พันธมิตร ลงนามMOUพัฒนาสองแหล่งเรียนรู้ จังหวัดจันทบุรี วังสวนบ้านแก้ว และ บ้านเรียนรู้ เลขที่ 69
สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ(มิวเซียมสยาม) จับมือ พันธมิตร มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี และบริษัท จันทบูรรักษ์ดี จำกัด ร่วมพัฒนาแหล่งเรียนรู้จังหวัดจันทบุรี จำนวน 2แห่ง คือ วังสวนบ้านแก้ว และบ้านเรียนรู้ เลขที่ 69 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและยั่งยืน ตอบโจทย์การเรียนรู้ของผู้คนในสังคมทุกเพศทุกวัย อีกทั้งจันทบุรีมีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวความรู้เชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและสุขภาพ รวมถึง การท่องเที่ยวชุมชนที่ได้สัมผัสวิถีชีวิตผู้คนและประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างแท้จริงอีกด้วย
นางสาวสุขุมาล ผดุงศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) เปิดเผยว่า จันทบุรีเป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญที่สุดทางเศรษฐกิจ มีสถาบันการศึกษาที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ ที่มีองค์ความรู้และบุคลากรที่มีศักยภาพในการพัฒนาความคิด ส่งเสริมการเรียนรู้ และพัฒนางานวิจัยในพื้นที่ เป็นพื้นที่ที่มีสมรรถนะสูงในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวของประเทศ เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยภารกิจของมิวเซียมสยาม ซึ่งทำหน้าที่ในการขยายผลการพัฒนาพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ภูมิภาคในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพและยั่งยืน เหมาะสมกับคนในสังคมทุกช่วงวัย โดยในปีนี้ ได้ร่วมกับพันธมิตร มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี และ บริษัท จันทบูรรักษ์ดี จำกัด พัฒนาแหล่งเรียนรู้จังหวัดจันทบุรี จำนวน 2 แห่ง คือ วังสวนบ้านแก้วและบ้านเรียนรู้ เลขที่ 69
สำหรับ “วังสวนบ้านแก้ว” ตั้งอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี เป็นสถานที่ท่องเที่ยวความรู้เชิงประวัติศาสตร์ของจังหวัดจันทบุรีที่สำคัญวังสวนบ้านแก้วมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นสูง เนื่องจากอดีตเคยเป็นสถานที่ทรงประทับของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ภายใต้การบริหารจัดการโดยสำนักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
เช่นเดียวกับ “บ้านเรียนรู้ เลขที่ 69” ชุมชนริมน้ำจันทบูร เป็นหนึ่งในย่านเมืองเก่าภาคตะวันออกของประเทศไทย เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่มีรากลึกทางประวัติศาสตร์ มีความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ภายใต้รูปแบบเมืองเก่าที่ยังคงมีชีวิตและสีสันอยู่จนถึงปัจจุบัน และยังคงอนุรักษ์ความเป็นอาคารสถาปัตยกรรมโบราณ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชุมชนไว้ได้อย่างยาวนาน ภายใต้การบริหารจัดการโดย บริษัท จันทบูรรักษ์ดี จำกัด
นางสาวสุขุมาล กล่าวเสริมว่า การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นแนวทางการดำเนินงานพัฒนาวังสวนบ้านแก้วและบ้านเรียนรู้ เลขที่ 69 ให้บรรลุผลสำเร็จตามเจตนารมย์และวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและยั่งยืนและหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างสรรค์พื้นที่ใหม่แห่งการเรียนรู้สำหรับจังหวัดจันทบุรี เป็นก้าวสำคัญในการร่วมสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผ่านศูนย์การเรียนรู้ทั้ง 2 แห่งนี้ต่อไป