ซิชั่น พีอาร์ นิวส์ไวร์ - โรงพยาบาลบีเอ็นเอชดำเนินงานแบบไร้กระดาษ 100% ด้วยระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ TrakCare ของ InterSystems
โรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยลงทุนในโปรแกรมบริหารการเปลี่ยนแปลง โดยให้แพทย์เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสร้างความสำเร็จทางเทคโนโลยีในอนาคต
กรุงเทพฯ, 19 กุมภาพันธ์ 2568 /PRNewswire/ -- InterSystems ประกาศว่าโรงพยาบาลบีเอ็นเอช (BNH Hospital) ในกรุงเทพฯ ได้เปลี่ยนสู่การดำเนินงานแบบไร้กระดาษ 100% โดยใช้ระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (EMR) TrakCare® ของ InterSystems หลังจากได้ลงทุนในโปรแกรมบริหารการเปลี่ยนแปลงโดยให้แพทย์และผู้บริหารเข้ามามีส่วนร่วม การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องของประเทศไทยในการปรับปรุงบริการดูแลสุขภาพให้ทันสมัย และยกระดับการดูแลผู้ป่วยด้วยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล
BNH Hospital building
โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนระดับนานาชาติแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2441 ต่อมา บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ (Bangkok Dusit Medical Services หรือ BDMS) ซึ่งเป็นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยได้เข้าซื้อกิจการ และปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเครือโรงพยาบาลสมิติเวช ซึ่งประกอบด้วยโรงพยาบาลในเครืออีก 6 แห่ง ทั้งนี้ ด้วยการนำระบบ EMR ของ TrakCare เข้ามาใช้ เครือโรงพยาบาลสมิติเวชตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานและเอื้อให้เกิดการบูรณาการเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง ซึ่งมีความสำคัญต่อการตัดสินใจด้านการรักษา
โรงพยาบาลสมิติเวช 3 แห่งใช้ระบบ TrakCare ของ InterSystems เป็นเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษแล้ว ในขณะที่ก่อนหน้านี้โรงพยาบาลอีก 4 แห่งเคยใช้ระบบ EMR ที่แตกต่างกันมาก่อน ซึ่งทำให้การกำหนดมาตรฐานเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพเป็นเรื่องที่ซับซ้อน InterSystems จึงได้ร่วมมือกับสมิติเวชเพื่อนำระบบ TrakCare ไปใช้ดำเนินงานในโรงพยาบาลทุกแห่งในเครือ โดยโรงพยาบาลแห่งสุดท้ายในจำนวน 4 แห่งนี้ได้ติดตั้งระบบเสร็จสมบูรณ์ไปเมื่อเดือนเมษายน
การเปลี่ยนมาใช้ระบบใหม่ที่โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ซึ่งก่อนหน้านี้ใช้ระบบเดิมที่ได้รับการปรับแต่งอย่างสูงนั้น ได้เปิดโอกาสให้แก่การพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อให้แพทย์ยอมรับและใช้งานระบบได้อย่างราบรื่น InterSystems จึงได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลบีเอ็นเอชเพื่อดำเนินโปรแกรมบริหารการเปลี่ยนแปลง
โปรแกรมดังกล่าวนำโดยศัลยแพทย์และผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลบีเอ็นเอช นพ.อภิชัย ไชยโรจน์ รวมทั้ง พญ. ณัฏฐิณี มัทนพจนารถ และคุณสรียานันท์ ศศิญาพันธุ์ โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้บริหารโรงพยาบาล และได้ให้กลุ่มแพทย์เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นนำระบบ TrakCare เข้ามาดำเนินงาน
ทั้งนี้ โรงพยาบาลบีเอ็นเอชสามารถทำให้แพทย์นำระบบ TrakCare ไปใช้งานได้ 100% นับตั้งแต่เริ่มต้นดำเนินงานระบบครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสูงกว่าระบบ EMR ที่ใช้ก่อนหน้านี้ซึ่งมีอัตราการใช้งานเพียง 70% ด้วยอัตรายอมรับระบบโดยสมบูรณ์ดังกล่าว ในปัจจุบันโรงพยาบาลบีเอ็นเอชจึงสามารถปรับปรุงการเข้าถึงข้อมูลทางการรักษา การดำเนินงาน และการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถมองเห็นข้อมูลผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุม การใช้ TrakCare เวอร์ชันล่าสุดโดยไม่มีการปรับแต่งเพิ่มเติมช่วยเอื้อให้โรงพยาบาลสามารถรองรับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในอนาคต และรับรองได้ว่ามีความสอดคล้องกับข้อกำหนดด้านกฎระเบียบของไทย
ผู้นำของโรงพยาบาลบีเอ็นเอชวางแผนให้แพทย์เข้ามามีส่วนร่วมในการสำรวจคุณสมบัติการทำงานเพิ่มเติมของ TrakCare โดยนพ.อภิชัย ไชยโรจน์ ได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของโรงพยาบาลที่มีต่อการดำเนินงานแบบไร้กระดาษโดยสมบูรณ์สำหรับทั้งในแผนกผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก โดยมุ่งเน้นสร้างระบบที่ใช้งานง่ายสำหรับแพทย์ เขาระบุว่าการร่วมมือกับ InterSystems มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยกล่าวว่า "เราได้ปรับปรุงกระบวนการป้อนข้อมูลเข้าสู่ TrakCare ให้มีประสิทธิภาพขึ้น และจะใช้ประโยชน์จากระบบนี้อย่างเต็มที่โดยหลีกเลี่ยงการเพิ่มฟังก์ชันที่ไม่จำเป็น"
สำหรับแผนในอนาคต นพ.อภิชัยแสดงความกระตือรือร้นในการให้แพทย์เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อใช้งานฟีเจอร์ต่าง ๆ ของ TrakCare เพิ่มเติม โดยกล่าวว่า "เราตั้งตารอที่จะขยายระบบจัดการยาแบบ closed-loop medication management ซึ่งเรานำไปทดสอบใช้งานอย่างประสบความสำเร็จแล้ว รวมถึงการใช้ข้อมูลเชิงวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เรายังมีแผนบูรณาการอุปกรณ์แบบพกพาเพื่อให้แพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกยิ่งขึ้น"
Luciano Brustia กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ InterSystems ให้ความเห็นว่า "ความร่วมมือของเรากับโรงพยาบาลบีเอ็นเอชในกระบวนการบริหารการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่ายิ่ง การเป็นผู้นำของนพ.อภิชัยและทีมงานของเขามีบทบาทสำคัญเพื่อรับรองว่าการเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นและทำให้แพทย์ทั้งหมดมีส่วนร่วมกับระบบใหม่โดยสมบูรณ์ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญที่ช่วยให้โรงพยาบาลสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่การดูแลผู้ป่วย"