ซิชั่น พีอาร์ นิวส์ไวร์ - ผลการศึกษาชี้คนไทยใช้ผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่มเป็นกลิ่นประจำวัน ขณะที่ Gen Z เริ่มหันมาใช้ผลิตภัณฑ์น้ำหอม
![]() |
กรุงเทพฯ 18 ก.พ. 2568 /PRNewswire/ -- จากผลการศึกษาของ Mintel พบว่า ตลาดน้ำหอมและผลิตภัณฑ์กลิ่นหอมของไทยกำลังเติบโต โดยมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นจาก 2% ระหว่างเดือนตุลาคม 2562 ถึงกันยายน 2563 เป็น 4% ในช่วงเวลาเดียวกันระหว่างปี 2566 ถึง 2567 อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคจำนวนมากยังคงใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มเป็นกลิ่นน้ำหอมประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างขั้นตอนการซักผ้าหรือสเปรย์ปรับผ้านุ่มแบบทำเอง
ชยภัทร รัชตวิภาสนันท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายความงามและการดูแลส่วนบุคคลของ Mintel ประเทศไทย อธิบายว่าผู้บริโภคชาวไทย "เชื่อมโยงกลิ่นหอมกับความสะอาด โดยชอบกลิ่นหอมอ่อน ๆ ที่เข้ากับกิจวัตรประจำวันของตน" ผลการศึกษาของ Mintel ระบุว่า คนไทย 73% อาบน้ำมากกว่าวันละ 1 ครั้ง และ 30% ชอบเปลี่ยนกลิ่นน้ำหอมตามชุดที่สวมใส่ "เทรนด์นี้สะท้อนถึงโอกาสทางการตลาดที่แข็งแกร่งสำหรับน้ำหอมและผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นหอม ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มองหากลิ่นหอมที่นุ่มนวลและปรับเปลี่ยนได้"
สำหรับผู้บริโภคชาวไทย น้ำยาปรับผ้านุ่มมีบทบาทสองอย่าง ทั้งช่วยให้เสื้อผ้านุ่มและเพิ่มความหอม ทำให้หลายคนรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องใช้น้ำหอมเหมือนที่ผ่านมา จากการวิจัยของ Mintel พบว่า เกือบหนึ่งในสี่ (23%) ของคนไทยมองว่ากลิ่นของน้ำยาปรับผ้านุ่มก็เพียงพอสำหรับการใช้เป็นกลิ่นน้ำหอมที่สามารถใช้เป็นประจำทุกวันแล้ว ซึ่งสะท้อนถึงความนิยมในกลิ่นหอมที่นุ่มนวลและไม่ฉุนจนเกินไป นอกจากนี้ 40% ของผู้บริโภคยังใช้กลิ่นของเสื้อผ้าที่ซักใหม่เป็นเสมือนน้ำหอมประจำตัวอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวผลิตภัณฑ์น้ำยาปรับผ้านุ่มที่มีการกล่าวอ้างอิงถึงน้ำหอมลดลงจาก 18% เหลือ 9% ในช่วงเดือนตุลาคม 2566 ถึงกันยายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2563-2564 สะท้อนถึงสิ่งที่คุณชยภัทรกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่านี่เป็นโอกาสสำหรับแบรนด์ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เสริมเสริมกลิ่นน้ำหอมประจำวัน อย่างเช่นโลชั่นทาผิวหรือสเปรย์ฉีดผ้า "แบรนด์สามารถพัฒนานวัตกรรมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผ้าได้ โดยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ดูแลเสื้อผ้าที่ให้กลิ่นหอมในรูปแบบใหม่ที่สามารถใช้ได้ระหว่างการซักผ้าหรือรูปแบบที่สามารถพกพาไปได้ทุกที่"
Gen Z มีแนวโน้มเลือกใช้น้ำหอมราคาระดับกลางที่สะท้อนถึงตัวตนของพวกเขา
รายงานยังชี้ให้เห็นถึงเทรนด์การเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์น้ำหอมราคาระดับกลางโดยเฉพาะช่วงราคาระหว่างประมาณ 160 บาท ถึง 300 บาท (4.74 ถึง 8.73 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งในช่วงสองปีที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงตุลาคม 2565 - กันยายน 2567 ผลิตภัณฑ์น้ำหอมในกลุ่มช่วงราคาดังกล่าวได้เติบโตจาก 27% เป็น 33%
ผลิตภัณฑ์ระดับกลางนี้ได้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มองหาสินค้าราคาที่เอื้อมถึงได้แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ที่สะท้อนตัวตน โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Z โดย 67% ของ Gen Z ไทยมองว่าน้ำหอมแบรนด์หรูเป็นการใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง ขณะที่เกือบหนึ่งในสาม (29%) เห็นว่าการหาน้ำหอมที่เข้ากับบุคลิกของตัวเองเป็นเรื่องยาก
"แม้ว่าน้ำหอมระดับกลางจะหาซื้อได้ง่ายและสะดวกกว่า แต่เมื่อพิจารณาราคาต่อปริมาตรแล้ว ยังค่อนข้างสูงอยู่ (เช่น น้ำหอมบางแบรนด์มีราคาประมาณ 200 บาทต่อ 10 มล.) อย่างไรก็ตาม ด้วยราคาที่จับต้องได้ต่อการซื้อแต่ละครั้ง ทำให้ผู้บริโภคสามารถสัมผัสกับน้ำหอมคุณภาพสูงได้โดยไม่เป็นภาระทางการเงินมากจนเกินไป
ผู้บริโภครุ่น Gen Z ที่กลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้ได้สร้างแรงผลักดันให้เกิดความสนใจในน้ำหอมที่พัฒนาโดยเทคโนโลยีขั้นสูง โดย 31% แสดงความสนใจอย่างมากในนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์น้ำหอมที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน คุณชยภัทรแนะนำว่า "แบรนด์สามารถใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อยกระดับการปรับแต่งน้ำหอมให้เหมาะกับความต้องการส่วนบุคคลได้ เช่น การใช้อุปกรณ์สวมใส่ที่สามารถปรับการปล่อยกลิ่นให้สอดคล้องกับผู้ใช้แต่ละคน"
น้ำหอมที่ส่งเสริมทั้งสุขภาพกายและใจได้รับความนิยมมากขึ้น
อีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังเติบโตคือการผสานน้ำหอมเข้ากับผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นด้านสุขภาพกายและใจ ผู้บริโภคชาวไทยยินดีจ่ายเพิ่มสำหรับน้ำหอมที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพจิต โดยให้ความสำคัญกับคุณสมบัติในการลดความเครียดมากที่สุด (55%) "เทรนด์นี้สะท้อนถึงศักยภาพของน้ำหอมในฐานะส่วนหนึ่งของการดูแลตนเอง ที่ไม่เพียงแต่มอบกลิ่นหอมที่น่าดึงดูด แต่ยังช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีได้อีกด้วย" คุณชยภัทรกล่าว