ซิชั่น พีอาร์ นิวส์ไวร์ - ซาอุดีอาระเบียเปิดตัวโครงการเพื่อติดตามการเกิดพายุทรายและฝุ่น เพื่อขยายขีดความสามารถของระบบเตือนภัยล่วงหน้าระดับโลก
การจัด Resilience Day ที่งานประชุม COP16 ในริยาด ระดมความร่วมมือให้เกิดการดำเนินการและการจัดหาเงินทุน
ริยาด, ซาอุดีอาระเบีย, 12 ธันวาคม 2567 /PRNewswire/ -- ประธานการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทรายสมัยที่ 16 หรือ UNCCD COP16 ของซาอุดีอาระเบียได้ประกาศเปิดตัวโครงการริเริ่มเพื่อติดตามการเกิดพายุทรายและฝุ่นในระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเตือนภัยการเกิดพายุทรายและฝุ่นล่วงหน้าในภูมิภาค โดยถือเป็นการยกระดับครั้งสำคัญให้แก่ระบบเตือนภัยล่วงหน้าระดับโลก โครงการนี้จะต่อยอดจากขีดความสามารถในการรับมือกับพายุทรายและฝุ่นที่มีอยู่ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO)
Saudi Arabia Launches Sand and Dust Storm Monitoring Initiative to Expand Global Early Warning System Capacity
การประกาศนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการริยาด (Riyadh Action Agenda) มีขึ้นในช่วงการจัด Resilience Day เมื่อวันอังคาร ซึ่งเป็นวันเฉพาะตามหัวข้อหลักในงานประชุม COP16 ที่มุ่งขยายการดำเนินงานตามโครงการเสริมความสามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก การอภิปรายและกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดวันดังกล่าวมุ่งเน้นเพื่อจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมและหาทางแก้ปัญหาใหม่ ๆ เพื่อต่อสู้กับปัญหาการเสื่อมโทรมของที่ดิน ภัยแล้ง และการกลายสภาพเป็นทะเลทราย ตามข้อมูลของ UNCCD มีฝุ่นและทรายเข้าสู่ชั้นบรรยากาศปีละ 2 พันล้านตันทุกปี ซึ่งเทียบเท่ากับน้ำหนักของมหาพีระมิดแห่งกีซา 350 หลัง โดยคาดว่ากว่า 25% เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์
ระบบให้คำแนะนำและประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับพายุทรายและฝุ่น (Sand and Dust Storm Warning Advisory and Assessment System: SDS-WAS) ซึ่งประจำอยู่ในเมืองเจดดาห์ ได้เพิ่มจำนวนของศูนย์ในเครือข่าย WMO ระดับโลกเป็นสี่แห่ง โดยเครือข่ายสากลส่วนหนึ่งรวมถึงกรุงปักกิ่ง บาร์เซโลนา และบาร์เบโดส
Jumaan Al-Qahtani ซีอีโอศูนย์ประเมินและให้คำแนะนำการเตือนภัยพายุทรายและฝุ่นระดับภูมิภาค GCC ในเจดดาห์ กล่าวถึงขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นของศูนย์ในระหว่างการอภิปรายบนเวทีว่า "ศูนย์นี้ได้พัฒนาโมเดลสามรูปแบบที่มีความละเอียดต่างกัน ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบเพื่อใช้คาดการณ์การเกิดพายุทรายและฝุ่นในภูมิภาค และทั้งสามรูปแบบได้ถูกนำไปใช้งานอยู่ในปัจจุบัน"
Al-Qahtani ยังกล่าวถึงโครงการเพื่อเพิ่มระดับการตรวจติดตาม การเตือน และการประสานงานระดับโลกสำหรับพายุทรายและฝุ่น โดยระบุว่า "ซาอุดีอาระเบียเพิ่งเปิดตัวโครงการความร่วมมือระดับนานาชาติ ซึ่งมุ่งพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าในประเทศที่ยังไม่มีความสามารถด้านนี้ โดยโครงการจะดำเนินการผ่านศูนย์ระดับภูมิภาคที่ได้รับการรับรองจาก WMO ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และซาอุดีอาระเบียจะให้เงินทุนสนับสนุนโครงการนี้จำนวน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงห้าปีข้างหน้า เราขอเรียกร้องให้องค์การอื่น ๆ ของสหประชาชาติ รวมทั้งประเทศต่าง ๆ ให้การสนับสนุนโครงการริเริ่มนี้"
การเพิ่มความสามารถในการรับมือภัยแล้งยังเป็นหัวข้อหลักในการหารืออย่างเป็นทางการตลอดวันที่เก้าของการประชุม COP16 ที่ริยาด ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ซาอุดีอาระเบียได้เปิดตัวความร่วมมือระดับโลกที่ริยาดเพื่อความสามารถรับมือภัยแล้ง หรือ Riyadh Global Drought Resilience Partnership ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการริยาดตั้งแต่เริ่มต้นงานประชุม COP16 โดยความร่วมมือนี้ได้รับเงินสนับสนุนแล้ว 2.15 พันล้านเหรียญสหรัฐ
"มีประชากรกว่า 1.8 พันล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และตัวเลขนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การสร้างความสามารถรับมือภัยแล้งต้องเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ โดยเราต้องเปลี่ยนจากการตอบสนองเชิงรับหลังเกิดภัยแล้ง มาเป็นการเตรียมพร้อมและสร้างความสามารถรับมือไว้ล่วงหน้าในเชิงรุก" ดร. Osama Faqeeha รัฐมนตรีช่วยว่าการด้านสิ่งแวดล้อม ในสังกัดกระทรวงสิ่งแวดล้อม น้ำ และการเกษตร และที่ปรึกษาประธาน UNCCD COP16 กล่าว
"เราภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เปิดตัวความร่วมมือระดับโลกที่ริยาดเพื่อความสามารถรับมือภัยแล้งในงาน COP16 และเราภาคภูมิใจอย่างสูงกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ให้การสนับสนุนการร่วมมือนี้ เราขอเรียกร้องให้ทุกประเทศ องค์กร ภาคเอกชน และองค์กร NGO เข้าร่วมความพยายามในครั้งนี้เพื่อเพิ่มความสามารถรับมือภัยแล้ง เรามุ่งเป้าไปยัง 80 ประเทศที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากที่สุด ด้วยการดำเนินโครงการริเริ่มนี้" ดร. Faqeeha เสริม
ในช่วงการจัด Resilience Day ระหว่างการประชุม COP16 ธนาคารโลกประกาศว่าได้ระดมทุนจากผู้บริจาคจำนวน 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมพัฒนาระหว่างประเทศ (International Development Association) โดยในแถลงการณ์ ธนาคารโลกกล่าวว่า เงินทุนก้อนนี้จะช่วยสร้างการเงินสามารถที่เข้าถึงได้มูลค่ารวม 1 แสนล้านดอลลาร์ เงินทุนนี้จะถูกนำไปใช้ในหลายด้าน เช่น การสนับสนุนความสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การช่วยเหลือเกษตรกร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน 78 ประเทศที่ถูกกำหนดว่าเป็นประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด การประชุม COP16 ในกรุงริยาดกำลังระดมความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนระดับโลก โดยมุ่งยกระดับโครงการริเริ่มเพื่อการฟื้นฟูที่ดินและความสามารถรับมือภัยแล้งในระดับนานาชาติ
เกี่ยวกับการประชุม COP16 ที่ริยาด:
การประชุม UNCCD COP16 มีขึ้นระหว่างวันที่ 2-13 ธันวาคม 2567 ที่ Boulevard Riyadh World ประเทศซาอุดีอาระเบีย การประชุมภายใต้หัวข้อ Our Land. Our Future จะเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปีของ UNCCD และมีเป้าหมายให้เกิดการดำเนินการพหุภาคีในประเด็นสำคัญ เช่น ความสามารถรับมือภัยแล้ง การถือครองที่ดิน และพายุทรายและฝุ่น
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ UNCCD COP16 กรุณาเยี่ยมชม UNCCDCOP16.org
รูปภาพ: https://mma.prnasia.com/media2/2578677/UNCCD_COP16_Presidency.jpg?p=medium600
โลโก้: https://mma.prnasia.com/media2/2556588/5072558/UNCCD_COP16__Logo.jpg?p=medium600