ข่าวไลฟ์สไตล์ - "แมนูไลฟ์" เผยผลสำรวจใหม่ พบคนในเอเชียมุ่งขยายอายุขัยที่มีสุขภาพสมบูรณ์ เพื่อให้ใช้ชีวิตเกษียณได้นานและแข็งแรงขึ้น
การสำรวจคนกว่า 7,000 คนในเอเชียแสดงความคาดหวังว่าจะเกษียณก่อนอายุ ประกอบกับการเสื่อมถอยของสุขภาพที่เริ่มขึ้นเร็ว
ความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนค่าใช้จ่ายของการมีสุขภาวะที่ดีกระตุ้นให้คนหันไปพึ่งพาบริการสุขภาพแบบจัดการด้วยตนเอง ( DIY healthcare) โดยใช้แอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ
มีความเชื่อมั่นในเชิงบวกเกี่ยวกับการบรรลุเป้าหมายทางการเงินและเป้าหมายเงินออมวัยเกษียณใน 5-10 ปีข้างหน้านี้
แมนูไลฟ์จะช่วยผู้คนรับมือกับกระแสความท้าทายใหม่ ๆ ในการเติบโตอย่างมีสุขภาพสมบูรณ์ยิ่งขึ้นและมั่งคั่งยิ่งขึ้นต่อไป
แมนูไลฟ์ (Manulife) เผยแพร่งานวิจัยชิ้นใหม่ โดยพบว่าชีวิตหลังเกษียณที่ยืนยาวและมีสุขภาพสมบูรณ์เป็นความปรารถนาของหลายคน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคจำนวนมากในเอเชียมีความกังวลเกี่ยวกับความเสื่อมถอยของสุขภาพที่เกิดขึ้นหลังจากที่พวกเขาหยุดทำงาน และระบุว่าความท้าทายดังกล่าวนี้ยากที่จะจัดการรับมือได้ เนื่องจากราคาที่เพิ่มสูงขึ้นของบริการสุขภาพ ประกอบกับแรงกดดันต่อการเงินส่วนบุคคลของพวกเขา
แบบสำรวจแมนูไลฟ์ เอเชีย แคร์ (Manulife Asia Care Survey) ประจำปี 2566 ชี้ว่า โดยเฉลี่ยแล้ว คนในเอเชียคาดว่าจะเกษียณในวัย 60 ปี โดยคาดว่าการเสื่อมถอยของสุขภาพจะเริ่มขึ้นในวัย 63 ปี หมายความว่าอายุขัยที่มีสุขภาพสมบูรณ์ (health span) ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาที่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีสุขภาพที่ดี ปราศจากความทุพพลภาพและโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับวัยชรา คาดว่าจะมีระยะเวลาเพียง 3 ปีหลังจากเกษียณ[1] ความคาดหมายของคนกว่า 7,000 คนที่ได้รับการสำรวจค่อนข้างสอดคล้องกับค่าผิดปกติ (outlier) อย่างมาก 2 กรณี ได้แก่สิงคโปร์กับอินโดนีเซีย ในสิงคโปร์ คนคาดว่าจะมีสุขภาพที่เสื่อมถอย 1 ปีก่อนการเกษียณอายุที่คาดหมายในวัย 62 ปี ขณะที่คนในอินโดนีเซียคาดว่าจะยังคงมีสุขภาพที่ดีอีก 5 ปีหลังจากเกษียณในวัย 58 ปี
ความท้าทายด้านสุขภาพที่ใหญ่หลวงที่สุดได้แก่การแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นของการขยายอายุขัยที่มีสุขภาพสมบูรณ์ และการจัดการกับสุขภาพที่เสื่อมถอยในชีวิตเมื่อแก่ตัวลง เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจ (45%) พบว่าค่าใช้จ่ายของการรักษาการเจ็บป่วยเฉียบพลันสร้างความเครียดมากที่สุด พร้อมด้วยผลกระทบของการเจ็บป่วยเช่นนั้นต่อรายได้และความมั่นคงในหน้าที่การงาน
ผู้บริโภคในเอเชียยังกลัวการเจ็บป่วย โดย 4 ความกังวลหลัก ประกอบด้วย มะเร็ง (48%) โรคหัวใจ (43%) โรคหลอดเลือดสมอง (38%) และโรคเบาหวาน (35%) ด้วยภาวะประชากรสูงวัยในเอเชีย โรคที่เกี่ยวข้องกับวัยอย่างเช่นภาวะสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ยังก่อความกังวลในผู้ตอบแบบสำรวจ 20%
"คนในเอเชียทำงานหนักมาทั้งชีวิต จึงเข้าใจได้ที่พวกเขาต้องการวางแผนเกษียณที่มีสุขภาพสมบูรณ์และสุขสำราญ" คุณเดเมียน กรีน (Damien Green) ประธานและซีอีโอ แมนูไลฟ์ เอเชีย กล่าว "ความท้าทายใหญ่ที่สุดที่พวกเขาเผชิญคือการหาวิธีที่มีราคาที่จ่ายไหวในการจัดการกับสุขภาวะทางกายภาพและจิตใจ ที่แมนูไลฟ์ เรามุ่งส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะที่ยืนยาว และเราต้องการร่วมมือกับผู้บริโภคตลอดทั้งวัยผู้ใหญ่ของพวกเขา เพื่อเสนอหลากหลายทางออกที่มีประสิทธิผลประกอบกับผลประโยชน์ขณะดำรงชีวิต ที่ทำให้พวกเขาทั้งมีสุขภาพที่สมบูรณ์ขึ้นและมั่งคั่งยิ่งขึ้น
ยินดีจ่ายเพิ่ม เพื่อขยายอายุขัยที่มีสุขภาพสมบูรณ์
ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (92%) ระบุว่าพวกเขายินดีที่จะจ่ายมากขึ้นเพื่อยืดอายุขัยที่มีสุขภาพสมบูรณ์ การลงทุนในการออกกำลังและการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นเป็นวิธีหลักที่คนใช้ในการยกระดับสุขภาพของตนเอง นอกจากนี้ ขณะที่ปัญหาสุขภาพจิตกำลังเพิ่มสูงขึ้น กิจกรรมเจริญสติอย่างเช่นโยคะและการฝึกสมองก็เป็นวิธียอดนิยมในการช่วยเหลือตนเองในแง่นี้เช่นกัน
สำหรับแนวทางด้านบริการสุขภาพที่เป็นเชิงรุกมากขึ้น การตรวจร่างกาย (45%) บริการตรวจคัดกรอง (31%) การขอคำปรึกษาจากมืออาชีพ (29%) และการสอบถามด้านสุขภาพทางออนไลน์เป็นประจำ (23%) ล้วนเป็นที่นิยม โดยความท้าทายอยู่ที่เรื่องต้นทุนค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะเมื่อมากกว่าหนึ่งในสาม (37%) กังวลเกี่ยวกับการสูญเสียรายได้หรืองานในกรณีเจ็บป่วยร้ายแรง
ผลกระทบของต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นได้แก่การเพิ่มขึ้นของบริการสุขภาพแบบจัดการด้วยตนเอง (DIY healthcare) ความต้องการแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือในการติดตามเฝ้าระวังทางสุขภาพมีสูงมาก (86%) โดยแอปพลิเคชันเพื่อติดตามการออกกำลัง (52%) การนอนหลับ (38%) และการควบคุมการบริโภคอาหาร (35%) คือสามประเภทที่เป็นที่นิยมสูงสุด
นอกเหนือจากการวางแผนด้านสุขภาพแล้ว ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่มีเป้าหมายทางการเงินส่วนบุคคล เป้าหมายที่เป็นที่นิยมสูงสุด 3 ประการแรกในกลุ่มผู้เข้าร่วมการสำรวจนี้ ได้แก่ การออมเงินสำหรับการเกษียณ (49%) สำหรับยามขัดสน (42%) และสำหรับความต้องการด้านบริการสุขภาพหรือการแพทย์ (32%) โดยมีเป้าหมายการออมเงินสำหรับการเกษียณสูงเป็นพิเศษในสิงคโปร์ (63%)
ผู้ตอบแบบสำรวจยกให้การเก็บออมเงินสดและการฝากเงินในธนาคาร (81%) เป็นวิธีหลักในการบรรลุเป้าหมาย ตามด้วยประกันส่วนบุคคล (59%) และในระดับภูมิภาค การสนับสนุนจากครอบครัว (42%) เป็นวิธีสำคัญในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้เช่นกัน
"อุปสรรคที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นมากที่สุดต่อการบรรลุเป้าหมายทางเงินเหล่านี้ ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการลดลงของรายได้ ตามด้วยราคาที่เพิ่มขึ้นของบริการสุขภาพและสุขภาพส่วนบุคคลที่เสื่อมถอยลง" คุณกรีน กล่าว "อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือมีเพียงหนึ่งในสามของผู้ตอบแบบสำรวจที่มีแผนเกษียณพร้อมอยู่แล้ว เรายังพบว่ามีการพึ่งพาการออมเงินสดเป็นอย่างมาก ซึ่งจะถดถอยลงอย่างรวดเร็วในสภาพแวดล้อมที่มีภาวะเงินเฟ้อ เป็นเรื่องฉลาดที่จะใช้เครื่องมือการออมที่จะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยทบต้นหรือเริ่มลงทุนและลงทุนต่อไป หรือทำทั้งสองอย่าง"
ความมั่นใจในการบรรลุเป้าหมายทางการเงิน
ประกันมีความนิยมสูงในภูมิภาคแห่งนี้ โดยเกือบสามในสี่ (70%) มีประกันสามประเภทโดยเฉลี่ย และ 79% ระบุว่าตั้งใจที่จะซื้อประกันภายใน 12 เดือนข้างหน้า ประกันสุขภาพผู้ป่วยนอก (30%) ประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ (26% สำหรับทั้งสองประเภทนี้) และประกันการเข้ารักษาในโรงพยาบาลและประกันการเจ็บป่วยร้ายแรง (25% สำหรับทั้งสองประเภทนี้) เป็นกลุ่มที่มีความต้องการสูงสุด
โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ตอบแบบสำรวจ (70%) มั่นใจในการบรรลุเป้าหมายทางการเงิน โดยมีเพียง 14% ที่คาดว่าจะไม่สามารถทำได้ คนในฮ่องกง (57%) และสิงคโปร์ (52%) มีความมั่นใจน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดอื่น ๆ อย่างเช่นจีน (81%) และอินโดนีเซีย (88%) ผู้ตอบแบบสำรวจเหล่านี้ ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 41 ปี ยังคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายเงินออมวัยเกษียณภายในระยะเวลาอันค่อนข้างสั้น หนึ่งในสามเชื่อว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเกษียณภายใน 5 ปี ขณะที่ราวหนึ่งในสาม 26% คาดว่าจะทำได้ภายใน 5-10 ปีข้างหน้า
"เมื่อคำนึงว่าอายุคาดหวังโดยเฉลี่ยในภูมิภาคนี้อยู่ที่มากกว่า 75 ปี[2] ประกอบกับอายุเกษียณที่คาดหวังอยู่ที่ 60 ปี เวลาที่คาดว่าจะต้องใช้ในการบรรลุความต้องการด้านเงินออมวัยเกษียณอาจจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง" คุณกรีน กล่าว "ดีกว่าถ้าจะปลอดภัยไว้ก่อน โดยเริ่มเก็บออมเร็วขึ้นและเป็นเวลานานขึ้น แล้วก็จะสามารถมีความสุขสงบสบายใจได้มากขึ้นและมีวิถีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้นในภายหลัง"
คุณกรีนกล่าวเสริมว่า ผู้บริโภคทั่วทั้งเอเชียมุ่งที่จะควบคุมชะตาของตนมากขึ้นในแง่ของการเกษียณ "ที่แมนูไลฟ์ เรายึดมั่นในการช่วยลูกค้าของเราขณะผ่านช่วงเวลาในชีวิตที่สำคัญเหล่านี้ เพื่อให้พวกเขาตัดสินใจได้อย่างถูกต้องซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่ออนาคตของพวกเขา สำหรับผู้ที่ยังไม่มีแผนการเก็บออมสำหรับวัยเกษียณ เราขอแนะนำอย่างจริงจังว่าอย่าผัดวันประกันพรุ่ง และถ้าคุณยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นที่ใด ขอให้ปรึกษากับผู้ให้คำปรึกษาทางการเงินของคุณ"
เกี่ยวกับการสำรวจแมนูไลฟ์ เอเชีย แคร์
การวิจัยนี้ดำเนินการโดยแมนูไลฟ์ ซึ่งได้สำรวจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความกังวล การจัดลำดับความสำคัญ และความปรารถนาด้านสุขภาพและสุขภาวะของผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเอเชีย มีการดำเนินการสำรวจก่อนหน้านี้ 3 รายการในเดือนพฤศจิกายน 2563 เดือนพฤษภาคม 2563 และเดือนพฤศจิกายน 2564 การสำรวจล่าสุดนี้ดำเนินการในเดือนธันวาคม 2565 และมกราคม 2566 ผ่านแบบสอบถามแบบตอบเองทางออนไลน์ในตลาด 7 แห่งในเอเชีย ประกอบด้วย จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม แบบสำรวจนี้มีผู้ตอบแบบสอบถามรวม 7,224 คน อายุระหว่าง 25-60 ปี มีทั้งผู้ที่มีประกันและผู้ที่ไม่มีประกันแต่ตั้งใจที่จะซื้อประกันใน 12 ถึง 24 เดือนข้างหน้า
เกี่ยวกับแมนูไลฟ์
แมนูไลฟ์ ไฟแนนเชียล คอร์ปอเรชั่น (Manulife Financial Corporation) คือกลุ่มธุรกิจบริการทางการเงินชั้นนำระดับโลก ซึ่งช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่ายขึ้นและมีชีวิตที่ดีขึ้น บริษัทมีสำนักงานใหญ่สากลตั้งอยู่ที่เมืองโทรอนโต ประเทศแคนาดา เราดำเนินธุรกิจในนามแมนูไลฟ์ในแคนาดา เอเชีย และยุโรป และดำเนินธุรกิจในนามจอห์น แฮนคอค ในสหรัฐอเมริกา เราให้คำปรึกษาทางการเงิน ประกันภัย เราให้บริการลูกค้าบุคคล สถาบัน และสมาชิกแผนเกษียณอายุทั่วโลก ผ่านแบรนด์ระดับโลกในกลุ่มบริหารจัดการสินทรัพย์และความมั่งคั่งของเราอย่างแมนูไลฟ์ อินเวสต์เมนต์ แมเนจเมนต์ (Manulife Investment Management) ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2565 เรามีพนักงานกว่า 40,000 คน ตัวแทนกว่า 116,000 ราย และพาร์ทเนอร์หลายพันราย ที่ให้บริการลูกค้ากว่า 34 ล้านคน เราใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ "MFC" ในตลาดหลักทรัพย์โทรอนโต นิวยอร์ก และฟิลิปปินส์ และ "945" ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง
บริการทั้งหมดไม่ได้มีในทุกเขตอำนาจ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ manulife.com
[1] อายุเกษียณทางการ ได้แก่ จีน 60 ปี (ผู้ชาย) และ 55 ปี (ผู้หญิง) ฮ่องกง 65 ปี อินโดนีเซีย 58 ปี มาเลเซีย 60 ปี (งานในภาครัฐ 62 ปี) ฟิลิปปินส์ 65 ปี สิงคโปร์ 63 ปี และเวียดนาม 60 ปี 6 เดือน
[2] อายุคาดหวังตามที่ระบุโดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้แก่ ฮ่องกง 85 ปี จีน 84 ปี สิงคโปร์ 78 ปี มาเลเซีย 76 ปี เวียดนาม 75 ปี ฟิลิปปินส์ 72 ปี และอินโดนีเซีย 69 ปี
คาร์ล หว่อง (Carl Wong) แมนูไลฟ์ +852 6373 7830, Carl_KK_Wong@manulifeam.com และดัดลีย์ ไวท์ (Dudley White) แมนูไลฟ์ +852 6039 0781, Dudley_White@manulife.com
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2040865/Manulife_Financial_Corporation_People_in_Asia_seek_to_extend_hea.jpg
โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/2040909/Manulife_Financial_Corporation_People_in_Asia_seek_to_extend_hea.jpg