ข่าวไลฟ์สไตล์ - CGTN บทวิเคราะห์ชี้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวอย่างรวดเร็วช่วยเพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ในช่วงเวลาสามปีที่ผ่านมา จีนสามารถรับมือกับคลื่นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแล้วระลอกเล่าด้วยการผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนขนานใหญ่ทั่วประเทศ ส่งผลให้จีนยังคงมีอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตในระดับต่ำที่สุดในโลก
เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จีนได้ปรับกลยุทธ์การตอบสนองต่อโควิด-19 ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยประสานการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
ในช่วงต้นปี 2566 เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณในเชิงบวก และพัฒนาการหลาย ๆ อย่างบ่งชี้ถึงความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนแสดงให้เห็นว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่มของจีน ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญในด้านอุปทาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2566
ส่วนทางด้านอุปสงค์นั้น ตัวชี้วัดสำคัญด้านการบริโภค การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ ต่างก็ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน โดยยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น 3.5% และ 5.5% ตามลำดับ
เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง
เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคค่อย ๆ กลับคืนมา และมีการใช้นโยบายส่งเสริมการบริโภคต่าง ๆ ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติจึงคาดการณ์ว่าการบริโภคจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ รัฐบาลได้ประกาศใช้นโยบายสนับสนุนทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงการแจกบัตรกำนัลให้ประชาชนนำไปจับจ่ายใช้สอย และการจัดเทศกาลต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการบริโภค
คณะมุขมนตรี (State Council) รายงานว่า จีนยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง ซึ่งรวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริง การพัฒนาการผลิตระดับไฮเอนด์ ไปจนถึงการเร่งสร้างระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่
นอกจากนี้ จีนยังตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง โดยได้กำหนดเป้าหมายการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไว้ที่ประมาณ 5%
นายฝู หลิงฮุ่ย (Fu Linghui) โฆษกสำนักงานสถิติแห่งชาติ แถลงข่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า แม้จะมีการฟื้นตัวในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ แต่จีนยังต้องกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค และเสริมสร้างรากฐานเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ ธนาคารกลางจีนได้ประกาศลดสัดส่วนการกันสำรองของสถาบันการเงิน หรือ RRR (ยกเว้นสถาบันการเงินที่มีการกันสำรองอยู่ที่ระดับ 5% อยู่แล้ว) ลง 0.25 จุดเปอร์เซ็นต์ โดยหลังการปรับลดในครั้งนี้ ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของ RRR สำหรับสถาบันการเงินของจีนจะลดลงสู่ระดับ 7.6% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคมเป็นต้นไป
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับรองรับเศรษฐกิจที่แท้จริง ตลอดจนให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ
การเติบโตอย่างมั่นคงท่ามกลางอุปสรรคนานัปการ
เศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตอย่างมั่นคงท่ามกลางการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา
สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า จีดีพีของจีนพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 121 ล้านล้านหยวน (ราว 17.95 ล้านล้านดอลลาร์) ในปี 2565 หลังจากทะลุหลัก 100 ล้านล้านหยวนในปี 2563 และ 110 ล้านล้านหยวนในปี 2564
ในปี 2565 ผลผลิตอุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่มปรับตัวขึ้น 3.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการผลิตสินค้าไฮเทคและการผลิตอุปกรณ์ซึ่งมีการเติบโตอย่างมาก ด้วยมูลค่าผลผลิตเพิ่มขึ้น 7.4% และ 5.6% ตามลำดับ
แม้ว่าจะมีความท้าทายมากมายในช่วงสามปีที่ผ่านมา แต่จีนยังคงรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเอาไว้ได้เป็นอย่างดี โดยจีนเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ของโลกที่กลับมาทำงานและดำเนินธุรกิจอีกครั้งในปี 2563 และเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่เพียงหนึ่งเดียวที่เศรษฐกิจเติบโตในปีนั้น
"จีนกำลังพยายามลดผลกระทบของโควิดที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานและการดำเนินธุรกิจให้เหลือน้อยที่สุด" ศาสตราจารย์ หลิว ปิน (Liu Bin) จากสถาบันองค์การการค้าโลกศึกษาแห่งประเทศจีน (China Institute for WTO Studies) มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ (University of International Business and Economics) ในปักกิ่ง กล่าว
นอกจากนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ จีนได้ดำเนินนโยบายหลายอย่าง รวมถึงการระดมเงินทุนเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การลดต้นทุนด้านสาธารณูปโภคสำหรับทุกภาคส่วนในตลาด และการให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์โรคระบาดเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงิน
ศาสตราจารย์หลิวกล่าวเสริมว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวเร็วกว่าเศรษฐกิจโลก จึงมีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่มความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ศาสตราจารย์หลิวกล่าวด้วยว่า เนื่องจากจีนมีบทบาทสำคัญในการค้าโลก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจึงช่วยเติมพลังให้เศรษฐกิจโลกอย่างมาก
สำนักงานศุลกากรจีนรายงานว่า มูลค่าการค้าสินค้าทั้งหมดของจีนสูงถึง 42.07 ล้านล้านหยวน (ราว 6.21 ล้านล้านดอลลาร์) ในปี 2565 ซึ่งครองอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 6 แล้ว
นอกจากนี้ ข้อมูลจากทางการยังแสดงให้เห็นว่า จีนเป็นผู้นำของโลกในด้านการส่งออกเป็นเวลา 14 ปีติดต่อกัน โดยครองสัดส่วนสูงถึง 14.7% ของตลาดส่งออกทั่วโลก
"นอกจากจีนจะมีบทบาทสำคัญต่อการค้าโลกแล้ว การส่งออกของจีนยังมีส่วนช่วยในการเติบโตของจีดีพีอย่างมาก" รองศาสตราจารย์ ไป๋ หรางหราง (Bai Rangrang) จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฟูตัน (Fudan University) กล่าว
"เมื่อถึงระดับหนึ่ง จีนยังช่วยลดช่องว่างระหว่างการบริโภคภาคครัวเรือนที่ลดลงกับการลงทุนทางธุรกิจในปีที่แล้ว" พร้อมกับระบุว่าปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังสิ่งนี้คือการที่จีนเปิดกว้างสู่ตลาดโลกมากขึ้น
ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ระบุว่าการที่เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวอย่างรวดเร็วช่วยเพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยในช่วงต้นปี 2566 เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณในเชิงบวก และพัฒนาการหลาย ๆ อย่างบ่งชี้ถึงความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน สามารถอ่านบทความต้นฉบับได้ที่เว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็น (CGTN) ที่ https://news.cgtn.com/news/2023-03-24/Analysis-China-s-economic-resilience-boosts-global-recovery-prospects-1iqoD1NKydi/index.html