ข่าวไลฟ์สไตล์ - CGTN จีนรับมือโรคระบาดด้วยแนวทางใหม่ เผยเหตุผลที่ผ่อนปรนมาตรการคุมเข้มในตอนนี้
SARS-CoV-2 ไวรัสต้นเหตุของโรคโควิด-19 กลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ที่ไวรัสดังกล่าวเริ่มแพร่ระบาดเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ไวรัสร้ายตัวนี้ก็ทำให้โลกผวาด้วยสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งอัลฟา เบตา เดลตา แกมมา และโอมิครอน คร่าชีวิตผู้คนไปหลายล้านคน
อู๋ ซุนยู (Wu Zunyou) หัวหน้านักระบาดวิทยาแห่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน กล่าวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาในการประชุมประจำปีว่า หากจีนนำมาตรการผ่อนคลายข้อจำกัดที่เพิ่งดำเนินการในช่วงนี้ไปใช้ในช่วงต้นปี จีนแผ่นดินใหญ่ก็น่าจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ราว 866,000 ถึง 1 ล้านคนในปี 2565
นับจนถึงเดือนพฤศจิกายน เมื่อจีนประกาศนโยบายใหม่เพื่อผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดหลายชุดที่ก่อนหน้านี้มีขึ้นเพื่อติดตามและลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จีนมีผู้เสียชีวิตจากไวรัสนี้รวมกันกว่า 5,000 ราย
ยอดผู้เสียชีวิตที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร 1.4 พันล้านคนไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ ในขณะที่หลายประเทศพยายามและเลิกใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จีนกลับไม่ปฏิบัติตาม
ในช่วงสามปีที่ผ่านมา เมื่อใดที่มีการฟื้นตัวของโควิด-19 ในที่ใดก็ตาม รัฐบาลท้องถิ่นพยายามที่จะตัดการแพร่ระบาดของไวรัสโดยเร็วที่สุด แม้ต้องทำให้การเคลื่อนไหวทางสังคมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงชั่วคราวก็ตาม
จีนได้เปิดตัวและปรับปรุงเกณฑ์วินิจฉัยและรักษาโรคโควิด-19 รวม 9 ชุด โดยให้คำแนะนำในการควบคุมการแพร่ระบาดและการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ จง หนานซาน (Zhong Nanshan) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางเดินหายใจที่มีชื่อเสียงของจีน กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในการบรรยายเกี่ยวกับการต่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนที่จัดโดยมหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็นว่า จีนยังเตรียมประกาศเกณฑ์ใหม่เร็ว ๆ นี้ด้วย พร้อมเสริมว่าเกณฑ์ใหม่จะเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจใน โดยต้องป้องกันและควบคุมโรคระบาดอย่างจริงจัง
ด้านคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน ระบุว่า มาตรการทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ล่าสุดและการกลายพันธุ์ของไวรัส เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโดยมีวิทยาศาสตร์รองรับและตรงเป้า
เมื่อสายพันธุ์โอมิครอนอันตรายน้อยลง
นักวิจัยพบว่าการก่อโรคและความรุนแรงของสายพันธุ์โอมิครอนลดลง เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้าของไวรัสโควิด-19
การศึกษาที่นำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และมหาวิทยาลัยการแพทย์ไห่หนานในมณฑลไห่หนานทางตอนใต้ของจีน ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อวันที่ 21 มกราคม แสดงให้เห็นว่า การเพิ่มจำนวนและความสามารถในการก่อโรคของไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์โอมิครอนในหนูทดลองถูกลดทอนลง เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ไวลด์ไทป์และสายพันธุ์อัลฟา เบตา และเดลตา
นีลเจอ ฟาน ดอเรมาเลน (Neeltje van Doremalen) นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ ในสังกัดสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นที่คล้ายกันเมื่อเดือนพฤศจิกายนในวารสารไซแอนซ์ แอดวานซ์เซส (Science Advances) ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ไวรัสโอมิครอนเพิ่มจำนวนในระดับที่ต่ำกว่าเดลตาในลิงวอก ส่งผลให้โรคทางคลินิกลดลง
ก้าวต่อไปของจีนในการรับมือโอมิครอน
นักวิจัยชาวจีนมีมุมมองที่ดีเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยโอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลักในขณะนี้
อู๋ ซึ่งเป็นนักระบาดวิทยา เปิดเผยว่า สัดส่วนผู้ที่มีอาการร้ายแรงและวิกฤตในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันทั้งหมดในประเทศจีน ลดลงจาก 16.47% ในปี 2563 เหลือเพียง 3.32% ในปี 2564 และ ณ วันที่ 5 ธันวาคม 2565 ก็เหลือเพียง 0.18%
จาง เหวินฮง (Zhang Wenhong) หัวหน้าศูนย์โรคติดเชื้อแห่งโรงพยาบาลหัวซาน ในสังกัดมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นที่เซี่ยงไฮ้ กล่าวในที่ประชุมว่า เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ค่อย ๆ เข้าสู่สมดุลกับโอมิครอน จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่สายพันธุ์ที่แพร่เชื้อรุนแรงกว่าจะระบาดหนักอีก
คุณจาง เปิดเผยว่า สิ่งนี้เป็น "ข้อสรุปที่ทราบกันดีอยู่แล้ว" ว่าจีนกำลังหลุดพ้นจากโรคระบาดนี้ และแนวโน้มดังกล่าวจะไม่ย้อนกลับ แต่ผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ ยังคงต้องได้รับการปกป้องอย่างเหมาะสม โดยเรียกร้องให้ผู้สูงอายุได้รับการฉีดวัคซีน
รัฐบาลจีนเพิ่งเปิดตัวแผนเพิ่มการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อปกป้องกลุ่มเสี่ยงนี้ให้ดียิ่งขึ้น
แผนดังกล่าวเรียกร้องให้มีความพยายามในการเร่งเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนในผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป และเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนในผู้ที่มีอายุระหว่าง 60 ถึง 79 ปีต่อไป
ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 ธันวาคมว่า เขา "หวังว่า" การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 จะไม่ถือว่าเป็นภัยฉุกเฉินระดับโลกแล้วในปีหน้า
https://news.cgtn.com/news/2022-12-19/-New-Approaches-Alpha-to-Omicron-why-China-is-easing-COVID-controls-1fS73iihxZu/index.html