ข่าวไอที - แคสเปอร์สกี้แนะนำเคล็ดลับ 2Ps ในการประชุม UNODC
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 75.6% ซึ่งสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อีกทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ยังมีเศรษฐกิจดิจิทัลที่เฟื่องฟูและเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 400 ล้านคน
หลายประเทศในภูมิภาคต่างเปิดตัว 5G ส่วนแผนโครงการ 6G ก็อยู่ใกล้แค่เอื้อม ในด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ก็มีการเติบโตอย่างคู่ขนาน
ในปี 2022 โซลูชันของแคสเปอร์สกี้ (Kaspersky) บล็อกความพยายามโจมตีผู้ใช้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยฟิชชิ่ง จำนวน 25,597,645 รายการ ซึ่งสูงขึ้น 127% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีจำนวน 11,260,643 รายการ
ฟิชชิ่งเป็นการฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ตประเภทหนึ่งซึ่งพยายามที่จะเอาข้อมูลประจำตัวของผู้ใช้โดยการหลอกลวง ซึ่งรวมถึงการขโมยรหัสผ่าน หมายเลขบัตรเครดิต รายละเอียดบัญชีธนาคาร และข้อมูลลับอื่นๆ
ข้อความฟิชชิ่งมักอยู่ในรูปแบบของการแจ้งเตือนปลอมจากธนาคาร ผู้ให้บริการ ระบบ e-pay และองค์กรต่างๆ การแจ้งเตือนจะพยายามกระตุ้นให้ผู้รับใส่ข้อมูล / อัปเดตข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเร่งด่วน ด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งที่มักเกี่ยวข้องกับข้อมูลสูญหาย ระบบพัง ฯลฯ
สำหรับสถิติทั่วโลก ปี 2022 ระบบ Anti-Phishing ของแคสเปอร์สกี้บล็อกความพยายามเปิดลิงก์ฟิชชิ่งได้ 507,851,735 รายการ ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณสองเท่าจากปี 2021
นายเซียง เทียง โยว ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคสเปอร์สกี้ ได้เล่าถึงภาพรวมของการฉ้อโกงทางออนไลน์ผ่านการนำเสนอสำคัญในหัวข้อ “สถานะการฉ้อโกงทางออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (The State of Online Fraud in Southeast Asia)
งานประชุมนี้จัดขึ้นโดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Office on Drugs and Crime หรือ UNODC) และได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น เป็นแคมเปญระดับภูมิภาคที่มุ่งเน้นเรื่องผลกระทบของการหลอกลวงทางออนไลน์ ฟิชชิ่ง และการโจรกรรมข้อมูลประจำตัวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเป้าหมายเพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนมีความตระหนักรู้และรับทราบถึงมาตรการป้องกันต่างๆ
นายโยวย้ำว่า ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ผู้บริโภคคาดหวังที่จะเข้าถึงข้อมูลทุกที่ทุกเวลาแบบเรียลไทม์ ซึ่งเป็นเรื่องจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ B2C แต่ตอนนี้กำลังกลายเป็นเทรนด์ B2B เช่นกัน การใช้เทคโนโลยีจะช่วยให้แบรนด์สามารถช่วยเหลือลูกค้าได้อย่างสร้างสรรค์และประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์ออนไลน์ที่สะดวกยิ่งขึ้น
“ด้วยดีไวซ์ที่เชื่อมต่อจำนวนมาก เวลาออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น และการทำธุรกรรมที่สำคัญผ่านเว็บ สิ่งสำคัญคือผู้ใช้ต้องรู้สึกปลอดภัยขณะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ แคสเปอร์สกี้รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมมือกับ UNODC เนื่องจากเรามีเป้าหมายร่วมกัน นั่นคือ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมออนไลน์ และวิธีที่เราจะสามารถปกป้องข้อมูลและเงินของเราด้วยวิธีที่นำไปปฏิบัติได้จริง” นายโยวกล่าว
นายโยวตั้งข้อสังเกตว่า “ผู้ใช้ในเอเชียแปซิฟิก 70% เชื่อว่าโซลูชันรักษาความปลอดภัยเป็นสิ่งจำเป็นในการปกป้องโทรศัพท์ของตนจากการโจมตีทางไซเบอร์ แต่มีเพียง 26% เท่านั้นที่ติดตั้งโซลูชันด้านความปลอดภัยบนอุปกรณ์ของตน ภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้ คือการที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่ตระหนักถึงภัยคุกคามทางออนไลน์ แต่ไม่ส่งผลให้เกิดการปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัยตลอดเวลา”
นายโยวได้เน้นเคล็ดลับความปลอดภัย 2Ps สำหรับผู้ใช้เพื่อป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ ดังต่อไปนี้
- P – Protection of devices การปกป้องอุปกรณ์ – โซลูชันความปลอดภัยไม่เพียงแต่ป้องกันมัลแวร์เท่านั้น แต่ยังตรวจสอบอุปกรณ์เพื่อดูโปรแกรมที่มีพฤติกรรมของน่าสงสัย และเตือนผู้ใช้หากพบเว็บไซต์ที่อาจเป็นอันตราย แนะนำให้ติดตั้งโซลูชันที่เชื่อถือได้ และอัปเดตอยู่เสมอ
- P – Password พาสเวิร์ด – พาสเวิร์ดที่รัดกุมต้องมีอักขระอย่างน้อยแปดตัว รวมทั้งอักขระตัวพิมพ์ใหญ่และตัวพิมพ์เล็ก ตัวเลข ช่องว่าง และอักขระพิเศษ ห้ามใช้ข้อมูลส่วนบุคคลหรือคำที่เป็นที่นิยม แนะนำให้ใช้โซลูชัน password manager เพื่อสร้างพาสเวิร์ดที่รัดกุมโดยอัตโนมัติ ตรวจสอบระดับความรัดกุม และจัดเก็บไว้ในที่ปลอดภัย
นายโจชัว เจมส์ ผู้ประสานงานระดับภูมิภาคด้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Office on Drugs and Crime หรือ UNODC) กล่าวว่า “การหลอกลวงทางออนไลน์มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจส่งผลกระทบต่อทุกคนที่ใช้อินเทอร์เน็ต ผู้ฉ้อโกงจะใช้ความไว้วางใจ ความหวัง และความช่วยเหลือของเราเพื่อโจมตีเรา การตระหนักรู้ของผู้ใช้จึงเป็นขั้นตอนแรกในการลดการตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวง สิ่งที่เราตั้งใจทำคือช่วยให้ผู้คนเข้าใจและหลีกเลี่ยงการหลอกลวงโดยไม่สูญเสียความไว้วางใจ"
ภารกิจของ UNODC คือการมีส่วนร่วมในสันติภาพและความมั่นคงปลอดภัยของโลก สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาโดยการทำให้โลกปลอดภัยจากยาเสพติด อาชญากรรม คอรัปชั่น และการก่อการร้าย ยุทธศาสตร์สำหรับปี 2021 - 2025 นี้จะช่วยให้ UNODC สามารถสนับสนุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล และมีความรับผิดชอบ โดยยกระดับการสนับสนุนของเราต่อประเทศสมาชิก เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม ครอบคลุม และยืดหยุ่นโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง