ข่าวสุขภาพ - P&G Health จับมือจุฬาฯ ต่อยอดวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์สูดพ่นจมูก
P&G Health, แผนกธุรกิจกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพบริษัท P&G ร่วมกับศูนย์นวัตกรรมทางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU.D.HIP) สนับสนุนงานวิจัยต่อยอดในการพัฒนาวิธีวิเคราะห์ประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์สูดพ่นทางจมูกในด้านการแสดงภาพการกระจายและการเกาะติดเยื่อเมือกในโพรงจมูก รวมถึงการประเมินเชิงคุณภาพของอุปกรณ์ระบบนำส่ง เพื่อเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อการประยุกต์ใช้ในผู้ป่วยต่อไป
ขณะนี้คนไทยจำนวนมากมีการใช้ผลิตภัณฑ์พ่นจมูกในการรักษาอาการหวัด ซึ่งมีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดหลายยี่ห้อ โดยมีสารประกอบ รูปแบบการทำงานและอุปกรณ์ที่ใช้นำส่งผลิตภัณฑ์แตกต่างกันออกไป ส่งผลต่อเทคนิคการใช้ให้ได้ปริมาณสเปรย์ที่สม่ำเสมอของผู้ป่วยเมื่อนำมาใช้จริงเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพตามผลการศึกษาทางคลินิกและหายจากโรคต่อไป
นาย ฟาบริซิโอ้ คาร์เมโล อัคชิโน้ General manager ของ P&G Health ประเทศไทย กล่าวว่า “ด้วยวิสัยทัศน์ของP&G Health ที่มีความตั้งใจจะเสนอผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพและเป็นที่ไว้ใจกับคนไทย โดยการผสมผสานความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับความต้องการของผู้ป่วย เราจึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยด้วยนวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วย เราในฐานะผู้นำด้านผลิตภัณฑ์พ่นจมูกรู้สึกเป็นเกียรติย่างยิ่งในการร่วมมือกับ CU.D.HIP เพื่อสนับสนุนงานวิจัยนวัตกรรมต่อยอดครั้งนี้เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถของนักวิจัยไทยและสถาบันการศึกษา
ผศ. ภญ. ดร. นฤพร สุตัณฑวิบูลย์ หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมทางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU-D-HIP) กล่าวว่า “ศูนย์นวัตกรรมทางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU.D.HIP และภาควิชาวิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม มีเครื่องมือ ห้องปฏิบัติการ และมีงานวิจัยของคณาจารย์ที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดสู่ระดับอุตสาหกรรม การประสานงานกับภาคเอกชน เช่น P&G Health อย่างเป็นระบบ ทำให้เห็นว่าผลงานวิจัยของคณาจารย์มีคุณค่าสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในระดับอุตสาหกรรม อันจะส่งผลเพื่อประโยชน์ต่อการใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภคในที่สุด”
ผศ. ภญ. ดร. วฤณ ฐิตาภิวัฒนกุล, อ. ภก. ดร. วีระเกียรติ บุญกนกวงศ์, อ. ภก. ดร. รัฐพล ศรีธราดล และ ภก. พีรวัส กอพงษ์พานิช อาจารย์และนักวิจัยภาควิชาวิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ทางทีมวิจัยได้ทำการประยุกต์วิธีวิเคราะห์ที่เหมาะสมในการพิสูจน์คุณภาพของผลิตภัณฑ์พ่นจมูกซึ่งเป็นรูปแบบที่ต้องอาศัยทั้งสูตรและอุปกรณ์ที่ใช้นำส่งที่เหมาะสม รวมถึงเทคนิคในการสูดพ่นเพื่อให้ได้ปริมาณที่พอเหมาะในการออกฤทธิ์ในผู้ป่วย ข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยจะนำไปใช้ในการพัฒนาคำแนะนำในการใช้ผลิตภัณฑ์ต่อผู้ป่วยต่อไป”