ข่าวสุขภาพ - CGTN: ท่าเรืออัจฉริยะของจีนหนุนการขนส่งสินค้าคึกคัก แม้เผชิญโควิด-19
ท่าเรือชิงเต่า (Qingdao Port) ในประเทศจีน ซึ่งอยู่ในเครือบริษัท ซานตง พอร์ต กรุ๊ป (Shandong Port Group) และเป็นท่าเรือการค้าต่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองในมณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน มีเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่พิเศษเข้าจอดทอดสมอเพิ่มมากขึ้น จากการรายงานของไชน่า มีเดีย กรุ๊ป (China Media Group หรือ CMG)
ท่าเรือชิงเต่ารองรับเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่พิเศษมากกว่า 300 ครั้ง โดยทั่วไปเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่พิเศษจะมีความยาว 400 เมตร และมีความสามารถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์มากกว่า 20,000 ทีอียู (TEU)
นอกจากนี้ ท่าเรือชิงเต่ายังรองรับเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ความยาว 200 เมตร มากกว่า 3,900 ครั้ง เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบเป็นรายปี จากการรายงานของไชน่า มีเดีย กรุ๊ป
การจัดการการขนส่งสินค้าจำนวนมากภายใต้ผลกระทบของโควิด-19 ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจำนวนแรงงานลดลง อย่างไรก็ตาม อัตราการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือชิงเต่าก็ยังเพิ่มขึ้น 16% ในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน อันเนื่องมาจากระบบอัจฉริยะของท่าเรือที่สร้างสถิติใหม่ในระดับโลก
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อท่าเรือและอุตสาหกรรมการขนส่งทางน้ำทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ท่าเรือหลัก ๆ ของจีนยังคงมีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่าเพิ่มขึ้น และมีความก้าวหน้าอย่างมากในการก่อสร้างท่าเรือดิจิทัลอัจฉริยะ จนเป็นผู้นำในการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะทั่วโลก
ท่าเรือชิงเต่าเป็นท่าเรือแห่งแรกของโลกที่มีระบบขนส่งอัจฉริยะแอร์แทร็ก (air-track) ที่สามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ 1.5 ล้านทีอียูต่อปี ระบบดังกล่าวสร้างสถิติใหม่ของโลกเมื่อเดือนมิถุนายน จากการจัดการตู้คอนเทนเนอร์มากถึง 67.76 ทีอียูในหนึ่งชั่วโมง โดยมีค่าเฉลี่ย 60.18 ทีอียูต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้น 14.2% จากสถิติก่อนหน้า
ปัจจุบัน จีนเป็นผู้นำของโลกในด้านจำนวนท่าเทียบเรืออัตโนมัติ โดยมีทั้งที่สร้างเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จากการรายงานของกระทรวงคมนาคม โดยท่าเรือหลักทั้งหมดในเซี่ยงไฮ้และเทียนจินมีการติดตั้งเครนสะพาน (Bridge Crane) หรือรางอัตโนมัติ
ศาสตราจารย์ หมี่ เว่ยเจียน (Mi Weijian) จากมหาวิทยาลัยการเดินเรือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Maritime University) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า การลงทุนอย่างต่อเนื่องในท่าเรือในประเทศ และบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้แนวคิดและแนวปฏิบัติในการก่อสร้างท่าเรืออัจฉริยะมีความล้ำสมัย
สำหรับท่าเรือองค์กรขนาดใหญ่ เช่น ซานตง พอร์ต ไซเอนซ์ แอนด์ เทคโนโลยี กรุ๊ป (Shandong Port Science and Technology Group) ความร่วมมือภายในองค์กรเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่เดิมให้เป็นท่าเทียบเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ริมน้ำอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ซึ่งช่วยลดต้นทุนโดยรวมลง 70% เมื่อเทียบกับท่าเทียบเรือที่สร้างขึ้นใหม่ จากการรายงานของสำนักข่าวซินหัว
"ตอนนี้เรามีทั้งท่าเทียบเรือแบบดั้งเดิม ท่าเทียบเรือกึ่งอัตโนมัติ และท่าเทียบเรืออัตโนมัติเต็มรูปแบบ" หวัง อวี้เซิง (Wang Yusheng) รองผู้จัดการทั่วไปของบริษัท กล่าว "การขนถ่ายสินค้าลงเรือและขึ้นจากเรือสามารถทำได้ในท่าเทียบเรือทั้งสามประเภท ทำให้ใช้ทรัพยากรของท่าเทียบเรือได้อย่างเต็มที่"
ลิงก์: https://news.cgtn.com/news/2022-12-28/Vitality-under-COVID-19-China-s-smart-ports-aid-increased-throughput-1g7OLnTDJtK/index.html