ข่าวราชการ, รัฐวิสาหกิจ - TED Fund ผนึก 7 หน่วยงาน เตรียมลงนาม MOU เสริมแกร่งพัฒนาผปก.ไทย
กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เร่งเครื่องเตรียมความพร้อมพัฒนาผู้ประกอบการ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับ เครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) แบ่งเป็น5 หน่วยงานใหม่ และ 2 หน่วยงานเดิมที่มีการลงนามMOU ไปก่อนหน้าเมื่อปี64 รวม 7 หน่วยงาน ได้แก่ ม.ขอนแก่น ม.นครพนม มรก.นครราชสีมา มรก.อุดรธานี มรก.สุราษฎร์ธานี ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และ ม.สงขลานครินทร์ ในวันที่ 11 สิงหาคม ศกนี้ หวังบ่มเพาะ พร้อมให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนวิจัย และพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และประธานกรรมการบริหาร กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) กล่าวว่า TED Fund มีภารกิจในการสนับสนุนทุนด้านการดำเนินธุรกิจ การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายผู้สนับสนุนการร่วมลงทุนและสนับสนุนเครือข่ายบ่มเพาะผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ประสบความสำเร็จเชิงธุรกิจอย่างยั่งยืน สามารถนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และร่วมผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) รายใหม่ในปีงบประมาณ 2566 จะจัดขึ้น ในวันศุกร์ ที่ 11 สิงหาคม 2566 เวลา 17.00 – 18.40 น. ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
โดยทางกองทุนฯ ได้ดำเนินการสรรหาและจัดตั้งเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) รายใหม่ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้นิสิต นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ และผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศได้เข้าถึงแหล่งทุนและสามารถใช้บริการเครือข่ายฯ ได้อย่างทั่วถึง โดยเน้นการบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ให้เป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ และรวมถึงยังเป็นการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเสริมสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน นั่นเอง