ข่าวราชการ, รัฐวิสาหกิจ - รมว.สุชาติ ต้อนรับ สหพันธ์นายจ้างฮ่องกง หารือขยายตลาดแรงงานไทยป้อนภาคธุรกิจในฮ่องกง - เยี่ยมชมฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน
ชอบข่าวนี้?
รอสักครู่...
วันที่ 19 เมษายน 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ คุณอัลกิ้น - เช้ง ไหว่ ก๊อง ประธานสภาองค์การนายจ้างฮ่องกง นายจาตุรนต์ ไชยะคำ กงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง และคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและหารือแนวทางการขยายตลาดแรงงานทักษะไทยไปทำงานฮ่องกงป้อนภาคธุรกิจที่มีแผนการขยายตัวเพิ่มขึ้น ตลอดจนเยี่ยมชมการฝึกอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมี ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน และวิทยาลัยการแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
นายสุชาติ กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ผมและคณะได้เดินทางไปเยือนฮ่องกงอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา และได้หารือประเด็นการขยายตลาดแรงงานไทยในฮ่องกง ซึ่งสมาพันธ์นายจ้างฮ่องกงยินดีต่อความร่วมมือระหว่างไทยกับฮ่องกง ในวันนี้สมาพันธ์นายจ้างฮ่องกง จึงได้มาเยี่ยมคารวะและหารือในประเด็นการส่งเสริมความร่วมมือการนำเข้าแรงงานไทย กึ่งทักษะฝีมือ ที่ฮ่องกงมีความต้องการ อาทิ ตำแหน่งผู้บริบาล ผู้สูงอายุ ช่าง และวิศกร เป็นต้น โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันผลักดันการลดขั้นตอนและกระบวนการนำเข้าแรงงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของอุปสงค์และอุปทานของตลาดแรงงาน รวมทั้งการนำเข้าแรงงานที่มีทักษะสูงจากประเทศไทย ตัวอย่างเช่น นายจ้าง - AH NGAU ENGINEERING LTD. ในการขออนุญาตจัดส่งแรงงานช่างเชื่อมท่อแรงดันสูงมาทำงานในฮ่องกงที่โรงไฟฟ้า Black Point Station Hong Kong ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงใน Lung Kwu Tan เขต New Territories ดำเนินการโดยบริษัท CLP Group (China Light and Power) ซึ่งโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และบริษัทดังกล่าวเป็นหนึ่งในสมาชิกของสมาพันธ์นายจ้างฮ่องกง ตลอดจนการขยายฐานการผลิตในประเทศไทยเพื่อรองรับความต้องการและความผันผวนในตลาดโลก อาทิ บริษัท KGK ซึ่งเป็น บริษัท Top 5 ในการผลิตจิวเวอรี่ส่งออกทั่วโลก ได้ตัดสินใจขยายฐานการผลิตในประเทศไทยเพื่อการส่งออก โดยมีความต้องการฝึกทักษะแรงงานที่มีทักษะสูง ซึ่งขณะนี้ ได้ดำเนินการโครงการดังกล่าวในลักษณะประชารัฐ โดยมี กระทรวงแรงงาน สภาอาชีวศึกษา วิทยาลัยช่างทองหลวง และ บริษัท KGK ร่วมมือกันดำเนินโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยให้มีมาตรฐานระดับสากล และยังมีหน่วยงาน Talent Connect ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดหาผู้มีความสามารถด้านการจัดการและการทำงานในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เข้ามาร่วมหารือและพร้อมสนับสนุนการจัดหาคนและพัฒนาทักษะให้ตรงกับความต้องการของนายจ้างในฮ่องกงด้วย
โอกาสเดียวกันนี้ รมว.แรงงาน ยังได้นำ ประธานสภาองค์การนายจ้างฮ่องกง และคณะ เยี่ยมชมการฝึกอบรมหลักสูตรการยกระดับฝีมือแรงงาน สาขาการประกอบอาหารไทย อาหารจานเดียว และสาขานวดหินร้อน ระยะเวลาการฝึกหลักสูตร 30 ชั่วโมง ที่วิทยาลัยการแรงงาน กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีความพร้อมและมีศักยภาพทั้งหลักสูตร เครื่องมือ รวมทั้งมีศูนย์ฝึกเป็นสถานที่รองรับการฝึกอบรมทักษะฝีมือ up skill/re skill และพัฒนาทักษะด้านภาษา ตลอดจนมีสถานทดสอบมาตรฐานฝีมือในสาขาต่าง ๆ ตามความต้องการของนายจ้างอีกด้วย
“ผลจากการที่สมาพันธ์นายจ้างฮ่องกงได้มาเยือนประเทศไทยและเยี่ยมชมการฝึกยกระดับทักษะแรงงานไทยในครั้งนี้ จะเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่รัฐบาลและกระทรวงแรงงานได้กระชับความร่วมมือกับฮ่องกงให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ไทยได้แสดงถึงศักยภาพและความพร้อมในการฝึกยกระดับทักษะฝีมือแรงงานไทยก่อนจัดส่งไปทำงานในฮ่องกงตามที่นายจ้างต้องการ เพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสไปทำงานในฮ่องกงเพิ่มมากขึ้น คนไทยได้มีงานทำ มีโอกาสพัฒนาทักษะฝีมือให้สูงขึ้น และนำรายได้กลับมาพัฒนาประเทศ รวมทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอีกด้วย” นายสุชาติ กล่าวท้ายสุด
ด้าน คุณอัลกิ้น - เช้ง ไหว่ ก๊อง ประธานสภาองค์การนายจ้างฮ่องกง กล่าวว่า วันนี้ผมและคณะได้เดินทางมาเยี่ยมชมการฝึกอบรมหลักสูตรการยกระดับฝีมือแรงงาน ซึ่งมีความพึงพอใจมาก ต้องขอชื่นชมในความพร้อมทั้งหลักสูตร สถานที่ เครื่องมือ และบุคลากรของไทยที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะแรงงานไทยเป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือโดดเด่น ซึ่งในส่วนของสมาพันธ์นายจ้างฮ่องกง มีความต้องการหลายสาขา อาทิเช่น ผู้ดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงสาขาช่างต่าง ๆ เนื่องจากขณะนี้ฮ่องกงกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ และกำลังขยายฐานการผลิตในหลายอุตสาหกรรม แรงงานไทยจึงเป็นเป้าหมายหนึ่งที่นายจ้างฮ่องกงต้องการ ผมมั่นใจว่าผลจากการเจรจาในวันนี้ จะเกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย ซึ่งลักษณะดังกล่าวถือเป็นสถานการณ์ที่ (Win-Win) ทั้งคู่ ทำให้แรงงานไทยได้มาทำงานในฮ่องกงมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็จะส่งผลดีกับบริษัทในฮ่องกงที่สามารถจ้างงานทำให้ธุรกิจเติบโต ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศต่อไป
+++++++++++++++++++
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
19 เมษายน 2566