ข่าวราชการ, รัฐวิสาหกิจ - สถาบันฯสิ่งทอ รับเศรษฐกิจ BCG ก้าวทันโลก หนุนทุน SME ไทย 80%
ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระแสโลกกำลังให้ความสำคัญสินค้าและอุตสาหกรรมที่เป็นไปตามมาตรฐานของโมเดล เศรษฐกิจ BCG หรือการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ ประกอบด้วย 1.เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) 2.เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) 3.เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มีเนื้อหาสำคัญคือกระบวนการผลิตที่เอื้อต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ปล่อยมลพิษเกินค่ามาตรฐาน และสามารถใช้ผลผลิตด้านเกษตรกรรมหรือด้านชีวภาพมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อลดผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อน ความปลอดภัยของมนุษย์ ตลอดจนสามารถนำกลับมาผลิตซ้ำหรือใช้หมุนเวียนต่อไปได้ ซึ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดรับกับกระแสตลาดโลกที่เกิดขึ้นเพื่อความอยู่รอด แต่ปัญหาที่พบคือ ตลอดกระบวนการผลิตจำเป็นต้องใส่ใจเก็บข้อมูลรอบด้านด้วยความละเอียด เพื่อยืนยันว่าผู้ประกอบการมีกระบวนการที่ใส่ใจต่อการปล่อยมลพิษ และเป็นไปตามโมเดล BCG ซึ่งต้องใช้ต้นทุนสูงในการจัดหาอุปกรณ์ กำลังคน รวมถึงปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจเพิ่มเติม เช่น จุดเด่น ความปลอดภัย ลดมลพิษ โดยเฉพาะคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลอดวัฎจักรของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การประกอบชิ้นงาน การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการของเสียหลังหมดอายุการใช้งาน รวมถึงการขนส่งที่เกี่ยวข้อง โดยคำนวณออกมาตามปริมาณกรัม กิโลกรัม หรือตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เพื่อให้ได้ใบรับรองตามมาตรฐานกำหนด
การได้มาซึ่งใบรับรองดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายเล็กหรือธุรกิจ SME โดยตรง หากไม่ปฏิบัติตาม สินค้าก็ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด หน่วยงานภาครัฐโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) จึงจัดเตรียมงบประมาณเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง โดยปี 2565 เตรียมงบประมาณช่วยเหลือไว้ 300-400 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการยังเข้าไม่ถึงทุนสนับสนุนดังกล่าว สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอจึงทำหน้าที่เป็นผู้ประสานและที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการในการเข้าถึงทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปในอนาคต ผ่านโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (BUSINESS DEVELOPMENT SERVICE) โดยแบ่งเป็นการสนับสนุนทุนผู้ประกอบการ
ดร.ชาญชัย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นผู้ประกอบการรายเล็ก เพื่อการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังใกล้เข้ามา โดยเฉพาะการทำใบรับรองเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ตลอดจนกระบวนการผลิตที่เป็นไปตามมาตรฐาน BCG แบบครบวงจร มีค่าใช้จ่ายประมาณ 400,000-500,000 บาท สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอจึงทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ เพื่อนำไปสู่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ พร้อมแนะนำตั้งแต่การเพิ่มผลผลิต การพัฒนาและบริหารธุรกิจ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้า และบริการ การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและการตลาด รวมถึงการพัฒนาตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ปัญหาที่พบคือ ผู้ประกอบการหลายรายไม่ทราบว่ามีโครงการช่วยเหลือดังกล่าว รวมถึงผู้ประกอบการหลายรายยังไม่ยอมปรับตัว ทำให้สินค้าไม่ได้รับการยอมรับจากตลาดต่างประเทศ เนื่องจากไม่มีใบรับรองตามมาตรฐานสากลในด้าน BCG
“ส่วนตัวอยากให้ผู้ประกอบการตื่นตัวในเรื่องธุรกิจ BCG อย่ารอให้การแข่งขันเข้มข้นสูงเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยปรับตัว อาจสายเกินไป สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ พร้อมให้ความรู้และส่งเสริมทุกกระบวนการผลิต ตลอดจนทดสอบสินค้าด้วยเทคโนโลยีมาตรฐานภายใต้ห้องแลปใหญ่ที่สุดในอาเซียน เพื่อผลักดันให้ธุรกิจสิ่งทอไทยอยู่รอด และผ่านพ้นความเปลี่ยนแปลงที่กำลังมาถึง” ดร.ชาญชัย กล่าวทิ้งท้าย