ข่าวราชการ, รัฐวิสาหกิจ - ก.แรงงาน หารือกองทุนกำลังใจในพระดำริพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาฯ หนุนผู้พ้นโทษมีงานทำ มีฝีมือ คืนคนดีสู่สังคม
วันที่ 22 มีนาคม 2566 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการมีงานทำและการพัฒนาทักษะฝีมือให้ผู้พ้นโทษ ร่วมกับ พลอากาศเอก สมคิด สุขบาง กรมวังผู้ใหญ่ฯ โดยมี คณะกรรมการกองทุนกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กระทรวงยุติธรรม และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เข้าร่วมหารือด้วย ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน
นายบุญชอบ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีงานทำแก่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ มีความมั่นคงในชีวิต ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงาน มีกรมการจัดหางาน ที่มีภารกิจหลักในการส่งเสริมการมีงานทำ การประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม เช่น ผู้ที่ต้องการมีงานทำ นักเรียน นักศึกษา ทหารกองประจำการ ผู้สูงอายุ คนพิการ รวมถึงผู้พ้นโทษด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับกองทุนกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กระทรวงยุติธรรม ในการดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างสถานประกอบการในจังหวัดต่างๆ ที่สมัครใจรับผู้พ้นโทษเข้าทำงาน ได้จับคู่ตำแหน่งงานให้กับผู้พ้นโทษ (Matching) ผ่านเว็บไซต์ไทยมีงานทำ.doe.go.th ในวันนี้จึงได้หารือถึงความก้าวหน้าในดำเนินการร่วมกัน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้พ้นโทษด้านส่งเสริมการมีงานทำและการประกอบอาชีพแล้ว 2,058 คน ในส่วนของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ดำเนินการพัฒนาทักษะและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน โครงการฝึกอบรมแรงงานกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพวิถีใหม่ กลุ่มผู้ต้องขัง/เยาวชนสถานพินิจ หลักสูตรที่มีผู้พ้นโทษให้ความสนใจ อาทิ ช่างปูกระเบื้อง เดินสายไฟฟ้าในอาคาร ล้างแอร์ ตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร ก่ออิฐฉาบปูน เป็นต้น ขณะนี้ได้ดำเนินการฝึกและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้แก่ผู้พ้นโทษแล้ว 1,104 คน
“ผลจากการหารือในวันนี้ นำไปสู่ความร่วมมือในการส่งเสริม สนับสนุน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้พ้นโทษ ได้มีงานทำ มีทักษะฝีมือ มีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว เป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีให้แก่ผู้พ้นโทษว่ามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับคนทั่วไป ส่งผลให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเองและไม่ย้อนกลับไปกระทำความผิดซ้ำ ถือเป็นการคืนคนดีสู่สังคม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ปลัดบุญชอบฯ กล่าวท้ายสุด
+++++++++++++++++++
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
23 มีนาคม 2566