ข่าวราชการ, รัฐวิสาหกิจ - รมว.สุชาติ ห่วงลูกจ้างเคสแก๊สระเบิดโรงงานขนม จ.ชลบุรี สั่ง 5 เสือ ลงพื้นที่ตรวจสอบและช่วยเหลือตามสิทธิทันที
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ห่วงลูกจ้างได้รับบาดเจ็บ 4 ราย กรณีแก๊สระเบิดโรงงานขนม จ.ชลบุรี สั่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานลงพื้นที่ เร่งตรวจสอบหาสาเหตุและช่วยเหลือลูกจ้างตามสิทธิประโยชน์พึงได้รับทันที โดยเชิญพบ 8 มีนานี้
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณี สื่อเสนอข่าว 650 ชีวิต หนีตายระทึก แก๊สโรงงานขนมระเบิดกลางดึก ว่า ทันทีที่ทราบข่าว ผมรู้สึกห่วงใยความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของลูกจ้าง นายจ้าง จากอุบัติเหตุดังกล่าว จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ส่งพนักงานตรวจความปลอดภัยสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 2 (ชลบุรี) ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานประกันสังคมจังหวัดชลบุรี และสำนักงานจัดหางานจังหวัดชลบุรี เร่งตรวจสอบหาสาเหตุและช่วยเหลือลูกจ้างตามสิทธิทันที ในเบื้องต้นได้รับรายงานว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 เวลา 22.40 น. สถานที่เกิดเหตุเป็นโรงงานผลิตและจำหน่ายอาหาร อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ขณะลูกจ้างกำลังผัดไส้ขนมอยู่นั้นเตาแก๊สสำหรับผัดไส้ขนมได้ระเบิด ทำให้ลูกจ้างทำงานกะดึกประมาณ 200 คน ต้องวิ่งหนีเอาชีวิตรอดออกจากโรงงาน โดยมีลูกจ้างได้รับบาดเจ็บ 4 ราย ได้แก่ น.ส. กิติยา ถาบุญเรือง อายุ 24 ปี ถูกไฟคลอกเป็นแผลพุพองทั้งตัวกว่า 80% , น.ส. จันรี อายุ 30 ปี สัญชาติกัมพูชา ถูกไฟคลอกมีแผลทั้งตัว อาการสาหัส , นางสอม อายุ 40 ปี สัญชาติกัมพูชา ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย และนายบุญจันทร์ บารมี อายุ 18 ปี สัญชาติลาว ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เบื้องต้นกู้ภัยปฐมพยาบาลและนำส่งโรงพยาบาลพานทองทันที ส่วนสาเหตุอยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม ผมได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงแรงงานดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจะเร่งดำเนินการให้ได้ลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายต่อไป
ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า พนักงานตรวจความปลอดภัยสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 2 (ชลบุรี) จะเชิญนายจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมถึงสาเหตุแก๊สระเบิด ในวันที่ 8 มีนาคม 2566 พร้อมทั้งตรวจสอบว่านายจ้างได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556 หรือไม่ ซึ่งหากนายจ้างฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ขณะที่ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวเพิ่มว่า สำนักงานประกันสังคมจังหวัดชลบุรี ตรวจสอบแล้วพบว่า ลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บทั้ง 4 ราย เป็นผู้ประกันตนและนำส่งเงินสมทบถูกต้องตามกฎหมายประกันสังคม จะเร่งดำเนินการให้ลูกจ้างได้รับสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน ดังนี้ ค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงตามความจำเป็นตามกฎกระทรวง ค่าทดแทนกรณีหยุดงาน ร้อยละ 70 ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลา 1 ปี ตามใบรับรองแพทย์ และค่าสูญเสียอวัยวะ ร้อยละ 70 ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 120 เดือน