ข่าวราชการ, รัฐวิสาหกิจ - รมว.เฮ้ง ส่ง ที่ปรึกษา เปิดติวเข้มสถานประกอบการ จ้างต่างด้าวถูกกฎหมาย ฟื้นเศรษฐกิจประเทศ
วันที่ 15 ธันวาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการเสริมสร้างการรับรู้ให้กับนายจ้าง สถานประกอบการ แรงงานต่างด้าวและองค์กรภาคีเครือข่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมี หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดเพชรบุรี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนายจ้าง สถานประกอบการและองค์กรภาคีเครือข่าย ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมศักดิเดชน์ ชั้น 2 ศูนย์วิทยพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
นางธิวัลรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีซึ่งท่านกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศและความปลอดภัยของประชาชนชาวไทย และท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้กรมการจัดหางานเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการจ้างงานแรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือนายจ้าง/สถานประกอบการ ให้มีแรงงานในการทำงานถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ได้เห็นชอบให้กระทรวงแรงงานบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพราะในปัจจุบันภาคเศรษฐกิจด้านต่างๆ ของประเทศไทย มีความจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในภาคการผลิต เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทย เพราะลักษณะงานบางอย่างคนไทยส่วนใหญ่ไม่ทำ เช่น งานหนัก งานสกปรก งานอันตราย ดังนั้นการจ้างแรงงานต่างด้าวจึงเป็นทางออกของผู้ประกอบการจำนวนมาก เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา ซึ่งเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยตามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการจ้างงานระหว่างประเทศ เพื่อทดแทนแรงงานไทยที่ขาดแคลน รวมทั้งแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมาย ถึงแม้ว่าแรงงานต่างด้าวเหล่านี้จะมีประโยชน์ และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศ หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะมีผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นได้
นางธิวัลรัตน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันจังหวัดเพชรบุรีมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างสถานประกอบการ จำนวน 1,968 แห่ง แรงงานต่างด้าว 34,271 คน การจัดงานในวันนี้สำนักงานจัดหางานจังหวัดเพชรบุรีจัดขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นนายจ้าง สถานประกอบการแรงงานต่างด้าว จำนวน 200 คน เพื่อให้นายจ้าง/สถานประกอบการ องค์กรภาคีเครือข่าย จะได้รับความรู้ ความเข้าใจ ในข้อบังคับ แนวปฏิบัติ และกฎหมายเกี่ยวข้องกับการจ้างแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ เพื่อดำเนินการด้านเอกสารตามขั้นตอนต่างๆ ได้อย่างถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนด ส่งผลให้แรงงานได้รับการคุ้มครองและดูแลเทียบเท่าสากล รวมทั้งเป็นการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในระดับหนึ่งด้วย
+++++++++++++++++++
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
15 ธันวาคม 2565