ข่าวราชการ, รัฐวิสาหกิจ - จีนและไทยกำหนดทิศทางใหม่ของความสัมพันธ์ทวิภาคี
"จีนและไทยมีความใกล้ชิดเหมือนครอบครัวเดียวกัน" สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวขณะพบปะกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ในกรุงเทพฯ
ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือทางยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างจีน-ไทย (China-Thailand Comprehensive Strategic Cooperative Partnership) ปธน.สีกล่าวว่า มิตรภาพดั้งเดิมระหว่างสองประเทศยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์รอบด้านลึกซึ้งยิ่งขึ้น และความสัมพันธ์ทวิภาคีได้เข้าสู่ขั้นใหม่ของการพัฒนา
จีนยืนอยู่ที่จุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ใหม่ โดยมีความยินดีที่จะเพิ่มความหมายใหม่ให้กับมิตรภาพ เปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ทวิภาคี และนำผลประโยชน์มาสู่ประชาชนมากขึ้น
เขายังกล่าวอีกว่า ชุมชนจีน-ไทยที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนซึ่งมีอนาคตร่วมกัน จะกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ในอนาคต ขณะที่ทั้งสองประเทศเตรียมฉลองครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทยในปี 2568
มีเสถียรภาพมากขึ้น
การเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการสนับสนุนซึ่งกันและกันทางการเมือง ช่วยสร้างชุมชนจีน-ไทยที่มั่นคงยิ่งขึ้นพร้อมอนาคตร่วมกัน
ในประเด็นสำคัญของหลักการเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของชาติ การรวมเป็นหนึ่ง และบูรณภาพทางดินแดน ทั้งสองประเทศได้ยืนยันคำมั่นสัญญาที่จะเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเข้าใจ และการสนับสนุนซึ่งกันและกันต่อไป ตามแถลงการณ์ร่วมที่เผยแพร่เมื่อวันเสาร์
ฝ่ายจีนเคารพเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย ฝ่ายไทยยึดมั่นในนโยบายจีนเดียวอย่างมั่นคง และยอมรับว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนที่แยกจากกันไม่ได้ และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลเดียวตามกฎหมายที่เป็นตัวแทนของจีนทั้งประเทศ และสนับสนุนหลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ของจีน
จีนและไทยแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันมากมายหลายด้าน เพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคและระดับโลก โดยจะสำรวจความร่วมมือภายใต้กรอบของโครงการความมั่นคงโลก (Global Security Initiative) และคงไว้ซึ่งการสื่อสารและการประสานงานอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดการกับผลกระทบของความท้าทายด้านความมั่นคงแบบดั้งเดิมและที่ไม่ใช่แบบดั้งเดิม เช่น การก่อการร้าย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความปลอดภัยทางไซเบอร์
รุ่งเรืองยิ่งขึ้น
เมื่อหารือกับพลเอกประยุทธ์ ปธน.สีกล่าวว่าทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือที่มากขึ้นในกลยุทธ์การพัฒนา และร่วมกันพัฒนาความร่วมมือโครงการเส้นทางสายไหมที่มีคุณภาพสูงเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ใหม่ ๆ
ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องเสริมสร้างความร่วมมือในสาขาดั้งเดิม เช่น การลงทุน การค้า การท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน และนิคมอุตสาหกรรม โดยในขณะเดียวกันก็สร้างพื้นที่การเติบโตใหม่ ๆ และผลักดันความก้าวหน้าในสาขาความร่วมมือใหม่ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล รถยนต์พลังงานใหม่ และนวัตกรรมเทคโนโลยี
"เราจำเป็นต้องเร่งความร่วมมือไตรภาคีเส้นทางรถไฟระหว่างจีน-ไทย-ลาว พัฒนาความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในอนาคตระหว่างจีน-ไทย-ลาว เสริมสร้างการเชื่อมโยงทางกายภาพของโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นประเด็นหลัก" ปธน.สี กล่าว พร้อมเสริมว่าทั้งสองประเทศควรยกระดับการเชื่อมโยงทางกฎระเบียบด้านโลจิสติกส์และพิธีการศุลกากร และขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูปคุณภาพสูงของไทยไปยังประเทศจีน
จีนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับไทยและภาคีอื่น ๆ ในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) โดยการดำเนินการที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้การจัดการเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกก่อให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น
ยั่งยืนยิ่งขึ้น
การเสริมสร้างมุมมองระหว่างประชาชนและวัฒนธรรมของชุมชนจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกันคือสิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีมีความยั่งยืนยิ่งขึ้น
ปธน.สี กล่าวว่า "เราจำเป็นต้องเสริมสร้างความร่วมมือในด้านการศึกษา การดูแลสุขภาพ การบรรเทาความยากจน และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของผู้คน แบ่งปันประสบการณ์ในการบรรเทาความยากจนและการพัฒนาด้วยวิธีการต่าง ๆ กระชับและยืนยันความร่วมมือในการบรรเทาความยากจนระหว่างสองประเทศ สวัสดิภาพของประชาชนและชุมชนของพวกเขา"
เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งสองประเทศควรกระชับการแลกเปลี่ยนเยาวชน ทำให้หัวใจของประชาชนทั้งสองฝ่ายใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น และเพิ่มความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของการขยายความร่วมมือในสาขาที่สนับสนุนการพัฒนาในอนาคต เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานสะอาด และความปลอดภัยของห่วงโซ่อุปทาน โดยเห็นพ้องที่จะขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เศรษฐกิจสีเขียวและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อบรรลุการพัฒนาที่มีคุณภาพยิ่ง
ฝ่ายไทยรอคอยที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวจากจีนเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางในประเทศจีน และแสดงความขอบคุณฝ่ายจีนที่อนุญาตให้นักเรียนไทยทยอยเดินทางกลับไปยังประเทศจีนเพื่อศึกษาต่อได้
ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวคุณภาพสูง และยกระดับความร่วมมือในด้านการศึกษา วัฒนธรรม สื่อและสารสนเทศ และระหว่างเมืองพี่เมืองน้องตามหลักการของความเสมอภาค ผลประโยชน์ร่วมกัน และความยั่งยืน แถลงการณ์ระบุ
https://news.cgtn.com/news/2022-11-20/China-Thailand-chart-new-directions-of-bilateral-relations-1f5UIJKm1mo/index.html