ข่าวงานอีเว้นท์ - มหกรรมฟื้นใจเมือง ณ ทุ่งสง เปิดประสบการณ์วัฒนธรรมของเมือง ดึงอัตลักษณ์ของพื้นที่สร้างมูลค่าสู่การยกระดับทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชุมชน
เทศบาลเมืองทุ่งสง ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร สมาคมเพื่อการพัฒนาศิลปะและหัตถศิลป์ไทย ภายใต้ทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีเปิดงานมหกรรมฟื้นใจเมือง ณ ทุ่งสง “กินของหรอย คอยของแต่แรก ร่วมแลกวัฒนธรรม แล้วมาเขารำโนราห์” สะท้อนวัฒนธรรมชาวนครศรีธรรมราช ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ เปิดประสบการณ์สัมผัสวิถีชีวิต ประเพณีดั้งเดิม เพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชุมชน เป็นการจัดงานมหกรรมด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิดในการพัฒนาย่านวัฒนธรรมชุมชนบนฐานทุนทางวัฒนธรรม ณ บริเวณถนนสายวัฒนธรรมเมืองทุ่งสง (หลาดชุมทางทุ่งสง)
โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน โดยมี นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช, ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.), ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนวิทยสถานธัชภูมิ เพื่อการพัฒนาพื้นที่ กล่าวเรื่อง “ทิศทางการขับเคลื่อนวิทยสถาน “ธัชภูมิ” เพื่อการพัฒนาพื้นที่ และการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรม” พร้อมด้วย นายถิรนาถ เอสะนาชาตัง นายอำเภอทุ่งสง นายทรงชัย วงษ์วัชรดำรง นายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาล หัวหน้าส่วนราชการ แขกผู้มีเกียรติ ประชาชนชาวทุ่งสง และพื้นที่ใกล้เคียงร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “จากการจัดตลาดสินค้าทางวัฒนธรรม 4 ปีที่ผ่านมาของทุ่งสง สามารถทำรายได้ให้กับชุมชนได้ราวหนึ่งร้อยห้าล้านบาท ในครั้งนี้นับเป็นการจัดตลาดครั้งที่ 219 ซึ่งนับว่าเป็นตลาดวัฒนธรรมที่เป็นเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืนและน่าภูมิใจ ในตอนนี้นอกจากการฟื้นทุนทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่ามาปรับใหม่แล้ว ได้มีการเพิ่มอีกสิ่งหนึ่งเข้าไปก็คือการทำให้คนเข้าใจในรากเหง้าของตนเองมากยิ่งขึ้น สามารถสร้างสำนึกรักษ์ในถิ่นฐานให้คนกลับสู่ถิ่น อันนำไปสู่ความภาคภูมิใจและหนักแน่นในความเป็นไทย”
มหกรรม “ฟื้นใจเมือง” ด้วย “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน” ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมแล้ว 3 ภูมิภาค 3 จังหวัด ได้แก่ 1) ภาคกลาง: อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี 2) ภาคเหนือ: อ.เชียงคำ จ.พะเยา 3) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ และในครั้งนี้จะเป็นการปิดด้วยจังหวัดสุดท้ายคือ ฟื้นใจเมือง ณ ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนวิทยสถานธัชภูมิ เพื่อการพัฒนาพื้นที่ กล่าวว่า “จากการวิจัยที่หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ดำเนินการจัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง มีเป้าหมายก็คือการทำให้คุณค่าเกิดเป็นมูลค่า ชาวบ้านจะต้องสามารถสัมผัสได้ว่าทุนทางวัฒนธรรมของพวกเขาสามารถสร้างเป็นมูลค่าได้ โดยการดึงอัตลักษณ์ของพื้นที่มาทำให้เกิดรายได้ ในอีกด้านหนึ่งศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วย บพท. ได้ก่อตั้งวิทยาสถานธัชภูมิขึ้น ซึ่งธัชภูมิจะร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฎในการสืบค้นทุนทางวัฒนธรรมไปสู่เทศกาลทางวัฒนธรรมเป็นการฟื้นเทศกาลเก่าๆให้กลับมา ผ่านการนำทุนทางวัฒนธรรมมาใช้เพื่อให้เกิดรายได้และความยั่งยืน ซึ่งคาดว่าจะขยายจาก 60 จังหวัดที่มีอยู่แล้วเพิ่มเติมอีก 10 จังหวัด ซึ่งก็นับได้ว่าเกือบจะทั่วทั้งประเทศไทย และอีกหนึ่งความคาดหมายของธัชภูมิและบพท.คือการทำให้มหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งให้กับจังหวัดได้ โดยการทำให้มหาวิทยาลัยเข้าใจในทุนวัฒนธรรมมากขึ้นเพราะมหาวิทยาลัยมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว จึงสามารถใช้ในการเติมเต็มและนำไปสู่ Soft power ของประเทศ ที่ประชาชนสามารถได้รับประโยชน์โดยแท้จริงได้”
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การประดับประดาเมืองโดยเน้นชูอัตลักษณ์ความเป็นทุ่งสง ด้วยการประดับไฟ แสง สีตระการตา โดยได้แรงบันดาลใจมาจากสีของลูกปัดมโนราห์ การปลุกหอนาฬิกา ขบวนรถไฟประวัติศาสตร์หมายเลข 277 (จำลอง) และอาคารบ้านเรือนให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ด้วยเทคนิค Ryhtm of Light การเปิดพื้นที่เพื่อสร้างสรรค์และจัดแสดงงานศิลปะต่าง ๆ การเดินขบวนพาเหรดหุ่นทองสูง ขบวน Fancy Masks สีสันสดใส ขบวนชุดผ้าปาเต๊ะ ผ้าบาติก ผ้าพื้นถิ่นภาคใต้ ขบวนกลองยาวจากชมรมผู้สูงอายุเทศบาลเมืองทุ่งสงและชุมชนทุ่งสง-นาบอน ชวนให้ครึกครื้นฟื้นใจเมือง การแสดงชุดพิธีเปิดจากคุณวินัย พันธุรักษ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (การขับร้องเพลงไทยสากล) ประจำปี 2562 ประกอบจินตลีลา และการแต่งกายย้อนยุคไปในสมัยที่ทุ่งสงได้รับอิทธิพลจากการค้าขายกับชาวตะวันตกผ่านระบบรางที่สถานีชุมทางทุ่งสงแห่งนี้ ไฮไลท์กระโปรงทรงสุ่ม ตัดเย็บขึ้นจากผ้าบาติกที่รังสรรค์ลวดลายต่าง ๆ ขึ้นด้วยความภาคภูมิใจในแผ่นดินถิ่นเกิด ประกอบด้วย หัวรถจักรไอน้ำ แปซิฟิค (ฮาโนแมก) หมายเลข 277 รองเท้านารีคางกบใต้ สิงโตพัดเหลือง ดอกสาวสนม และเฟิร์นบัวแฉก ตลอดจนการแสดงทางวัฒนธรรมภาคใต้จากนักเรียนโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองทุ่งสง การแสดงดนตรีโฟล์คซอง และการออกร้านจำหน่ายสินค้าของผู้ค้าหลาดชุมทางกว่า 150 ร้านค้า