ข่าวพลังงาน, สิ่งแวดล้อม - ออสเตรเลียเปิดตัวระบบติดตามคุณภาพน้ำในรูปแบบ พยากรณ์อากาศ ครั้งแรกของโลก
สำนักงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติออสเตรเลีย (CSIRO) ได้ประกาศพันธกิจเพื่อนำเสนอระบบตรวจสอบคุณภาพน้ำจากพื้นดินสู่อวกาศเป็นครั้งแรกของโลก
องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ประเมินว่า ประชากร 3 พันล้านคนอาจเสี่ยงเจอน้ำที่ไม่ปลอดภัย ทางสำนักงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติออสเตรเลียจึงกำลังทำงานร่วมกับพันธมิตรทั่วโลกผ่านอควาวอตช์ ออสเตรเลีย (AquaWatch Australia) เพื่อช่วยปกป้องทรัพยากรน้ำจืดและชายฝั่ง
อควาวอตช์จะให้ข้อมูลอัปเดตแบบเกือบเรียลไทม์รวมถึงการพยากรณ์ล่วงหน้า เปรียบเสมือนการพยากรณ์อากาศแต่เป็นพยากรณ์คุณภาพน้ำแทน เมื่อดำเนินการเต็มรูปแบบ อควาวอตช์จะช่วยยกระดับการบริหารจัดการคุณภาพน้ำ และใช้ตรวจสอบคุณภาพน้ำได้ทั้งเพื่อใช้ดื่ม สุขอนามัย เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประเมินสิ่งแวดล้อม และการใช้งานอื่น ๆ หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
สำนักงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติออสเตรเลีย ร่วมกับพันธมิตรอย่างศูนย์วิจัยความร่วมมือสมาร์ตแซต (SmartSat Cooperative Research Centre) กำลังผนวกรวมภาคการวิจัย ภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้น 83 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพื่อออกแบบและพัฒนาอควาวอตช์
ข้อมูลที่รวบรวมโดยใช้เครือข่ายดาวเทียมสำรวจโลกที่มีอยู่อย่างกว้างขวางและเซ็นเซอร์น้ำบนพื้นดิน จะนำมารวมไว้ที่ศูนย์รวมข้อมูลส่วนกลาง ซึ่งสำนักงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติออสเตรเลียจะเข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลและใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อพยากรณ์ล่วงหน้า 2-3 วัน
ดร.แลร์รี มาร์แชล (Larry Marshall) ประธานบริหารสำนักงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติออสเตรเลีย เปิดเผยว่า น้ำเป็นทรัพยากรสำคัญอันดับต้น ๆ ของโลก โดยกล่าวว่า
"บริการอย่างอควาวอตช์อาจเข้ามาพลิกวงการ ในสถานที่ซึ่งผู้คนยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากน้ำที่ไม่ปลอดภัย เพื่อใช้ตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน เช่น การดื่มและสุขอนามัย"
"อควาวอตช์มีความชาญฉลาดอยู่ที่การรวมการสังเกตโลกเข้ากับความสามารถอื่น ๆ ในด้านวิทยาศาสตร์ เช่น การสำรวจตรวจวัดในพื้นที่ การสร้างแบบจำลองระบบนิเวศ วิศวกรรม วิทยาการข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์"
"นับเป็นตัวอย่างล่าสุดของโครงการตามพันธกิจของสำนักงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งเป็นโครงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และความร่วมมือขนาดใหญ่ที่มุ่งเร่งความเร็วและขนาดในการแก้ไขปัญหาท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด"
สำนักงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติออสเตรเลียและพันธมิตรในหลายประเทศ ได้ทำงานร่วมกันอยู่แล้วในโครงการนำร่องต่าง ๆ ทั้งใน
รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ร่วมกับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส (University of California, Davis) และมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เมอร์เซด (University of California, Merced) โดยมุ่งปรับปรุงความขุ่นของน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำแห่งสำคัญ
รัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย ร่วมกับมหาวิทยาลัยสวินเบิร์น ซาราวัก (Swinburne University Sarawak) มุ่งใช้ป่าชายเลนลดคาร์บอน
ชิลี โดยเน้นเพาะเลี้ยงปลาแซลมอนและแยกเกลือออกจากน้ำ
โคลอมเบีย โดยเน้นพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่ง
เวียดนาม โดยร่วมมือกับศูนย์ทรัพยากรและตรวจวิเคราะห์น้ำแห่งเวียดนาม (NAWAPI) และมหาวิทยาลัยเหมืองแร่และธรณีวิทยาฮานอย (HUMG) เพื่อปรับปรุงน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคและความต้องการไฟฟ้าพลังน้ำ
ทั้งนี้ สำนักงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติออสเตรเลียเป็นองค์กรวิทยาศาสตร์ระดับชาติที่โดดเด่นของออสเตรเลีย เพื่อใช้วิทยาศาสตร์ระดับโลกเร่งสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ