ข่าวการศึกษา - ถอดบทเรียนด้านการศึกษา ของ ดร.รัตนา แซ่เล้า ผ่านรายการ 1 ในพระราชดำริ สถานีโทรทัศน์ช่อง 9
ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ดร.รัตนา แซ่เล้า ผู้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ประจำปี 2549 ได้เดินทางไปทั่วประเทศกับรายการ 1 ในพระราชดำริ สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 Mcot HD โดยมีคุณเมษนี สถาวรินทุ เป็นโปรดิวเซอร์ เพื่อรังสรรค์สารคดีคุณภาพนำเสนอมุมมองด้านการศึกษาของประเทศไทย เป็นจำนวนกว่า 52 ตอน ผ่านบุคคลากร, นักวิชาการ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ รวมถึงพลังบวกที่เกิดขึ้นในหลายโรงเรียนจากทั่วประเทศ ทำให้มองเห็นถึงภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้น และยังได้เห็นถึงการปรับตัวในหลายโรงเรียนให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ซึ่งการพัฒนาการศึกษาเป็นหน้าที่ของเราทุกคน ที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงก้าวไปข้างหน้า ที่สำคัญคือต้องทำอย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงในทุกระบบ เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ได้มีบทสรุปจากการทำงาน ตกผลึกเป็นความเห็นที่น่าสนใจ
ดร.รัตนา แซ่เล้า กล่าวว่า “ตลอดการทำงานที่ผ่านมา ได้ทำให้เห็นพลังบวกที่มีอยู่ในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศไทย แต่ที่ประทับใจมากที่สุดคือโรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เพราะถือเป็นกรณีศึกษาที่มีหลายมิติคือเป็นชุมชนมอญ กระเหรี่ยง และชุมชนไทย แต่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ภายใต้เมตตาคุณของหลวงพ่ออุตตมะ ที่ได้สร้างโรงเรียนด้วยการมอบที่ดินให้เมื่อ 49 ปีที่แล้ว ทำให้เด็กนักเรียนได้อ่านออกเขียนได้ โดยใช้ภาษาไทยเป็นเครื่องมือทำให้คนหลายชาติพันธุ์ได้สามัคคี และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำเอาอาชีวะลักษณะที่ 3 เข้ามาใช้ เป็นการสร้างพื้นที่ให้กับนักเรียนได้มีงานทำ เกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง
นอกจากนี้ยังมีหลายโรงเรียนที่ได้น้อมนำพระราโชบายเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ เช่นที่โรงเรียนวังจันทร์วิทยา จ.ระยอง ซึ่งได้จัดทำ 25 ฐานการเรียนรู้ ก็ได้ทำให้นักเรียนสามารถพึ่งตัวเองอย่างยั่งยืน ซึ่งเราพบว่าในหลายโรงเรียนก็ได้นำเรื่องนี้ไปใช้ เพราะหัวใจหลักของการศึกษาคือต้องดูแลตัวเองและครอบครัวให้ได้ก่อน แล้วถึงจะไปดูแลสังคมและประเทศชาติได้
จากการทำงานมา 4 ปี ทำให้ได้บทเรียน 4 อย่างที่สำคัญคือ 1)สู้และไม่ท้อ การอยู่บนความขาดแคลนของทรัพยากร ซึ่งไม่เป็นความจริงเสมอไป หากเรารู้จักพัฒนาให้ได้ประโยชน์สูงสุด 2)หลักบวร การทำผ้าป่าได้แสดงให้เห็นความสามัคคีของชุมชน เหมือนที่โรงเรียนบ้านห้วยต้มชัยยะวงศาอุปถัมภ์ จ.ลำพูน ที่ได้อาศัยบารมีของหลวงปู่ครูบาชัยวงศาพัฒนามาพัฒนาโรงเรียน ทำให้ชาวปกาเกอะญอได้รับการศึกษา ซึ่งคือหลักบวร (บ้านวัดโรงเรียน) ที่เป็นอัตลักษณ์ที่น่าชื่นชมของประเทศไทย 3)การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น คือให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาของเด็ก คือเรียนในสิ่งที่สามารถนำมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เช่น โรงเรียนวัดถนนกะเพรา จ.ระยอง ที่ได้สร้างนวัตกรน้อยเพื่อชุมชน การอยู่ในชุมชนประมง ทำให้คิดนำเอาเปลือกหอยมาผสมซีเมนต์ สร้างเป็นกระถางต้นไม้เพื่อนำไปขาย เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของ อ.แกลง จ.ระยอง และ 4)การกระจายจำนาจ ทั้งในเรื่องหลักสูตร, งบประมาณ, บุคลากร และต้องให้ชุมชนมีอำนาจในการตัดสินใจของตัวเอง ซึ่งในปัจจุบันศูนย์กลางอำนาจยังอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ ท้องถิ่นจะต้องมีบทบาทมากกว่านี้ เพราะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับคนในชุมชนมากที่สุด”
ดร.รัตนา แซ่เล้า ยังได้กล่าวต่อไปว่า “ขอฝากไปยังทุกท่านในแวดวงการศึกษาไทย ให้มี 1)ความกล้า คือการกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ให้กับชุมชน ทั้งในเรื่องหลักสูตรใหม่ๆ หรือการนำหลักสูตรท้องถิ่นมาใช้, การบริหารในทรัพยากรที่จำกัด, การเผชิญหน้ากับอุปสรรคต่างๆ 2)ศรัทธา คือการศรัทธาในตัวเด็ก ที่ในอนาคตเขาจะเป็นผู้ขับเคลื่อนประเทศชาติต่อไป และ 3)ความหวัง ต้องมีความเชื่อว่าสังคมในวันพรุ่งนี้เป็นวันแรกของชีวิตที่เหลืออยู่ ที่จะต้องมีสิ่งใหม่เกิดขึ้น อย่าจมปลักกับเรื่องหรือสิ่งเดิมๆ เราต้องสู้ไปด้วยกัน ทุกคนสามารถเป็นตัวผลักดันในการพัฒนาการศึกษาไทยได้ และสุดท้ายการทำงานด้านการศึกษาต้องทุ่มเทแบบ 360 องศา จึงอยากกราบขอบคุณสถาบันครอบครัว คือคุณพ่อกวงเม้ง และคุณแม่ปิติอร แซ่เล้า ที่เป็นกำลังใจเสมอมา”
ผู้สนใจสามารถเข้าไปชมคลิปการสัมภาษณ์เพิ่มเติม ได้ที่รายการ 1 ในพระราชดำริ ตอนความฝันอันสูงสุด สร้างพลังบวก เพื่อการศึกษาไทย ซึ่งทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 Mcot HD ร่วมกับทางมูลนิธิอานันทมหิดล ได้จัดทำขึ้น โดยคลิกไปที่ https://www.youtube.com/watch?v=gVq2G-0B2YE&t=327s ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
***************