ข่าวการศึกษา - มบส.ติดอาวุธอาจารย์ที่ปรึกษาใช้ทักษะวิศวกรสังคมประยุกต์การสอน
มบส.ติดอาวุธอาจารย์ที่ปรึกษาใช้เครื่องมือและกระบวนการวิศวกรสังคมมาประยุกต์ใช้การสอน เพื่อดูแลนักศึกษาในชั้นเรียนและนอกห้องเรียน
รศ.สายัณ พุทธลา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางมบส.ได้จัดโครงการพัฒนาทักษะ Soft skill ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม เพื่อสร้างนักศึกษาและบัณฑิตให้เป็นบัณฑิตในศตวรรษที่ 21 สําหรับอาจารย์และบุคลากร ครั้งที่ 1 โดยมีผู้บริหาร อาจารย์และบุคลากร เข้าร่วมจำนวน 152 คน ทั้งนี้ขอย้ำว่าทักษะวิศวกรสังคม หรือSocial Engineer Skills เป็นการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และเป็นทักษะเฉพาะของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ได้รับการปลูกฝัง อบรม ให้ความรู้ ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์เชิงเหตุผล ค้นหาปัญหาที่แท้จริง คิดอย่างเป็นระบบ คิดเชิงสร้างสรรค์ คิดเชิงออกแบบ หรือDesign Thinking ลงมือทําอย่างมีระบบแบบแผนขั้นตอนตามหลักวิชา ไม่ติดตํารา รวมทั้งพิจารณาจากปัญหาที่แท้จริง สื่อสารประสานงานกับเป้าหมาย ภาคีเครือข่าย หุ้นส่วนทาง สังคมอย่างเข้าใจ เข้าถึง พึ่งพา พัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังรู้จักสร้างเครื่องมือ ใช้เทคนิควิธีให้สอดคล้องกับวิถี วิธีภูมิสังคมที่ประชาชนอยู่อาศัยในชุมชนท้องถิ่น ขณะเดียวกันสามารถผลิตนวัตกรรมทางสังคมไปแก้ปัญหาของสังคมได้ ในแนวทางที่ถูกต้องดีงาม จนสร้างตนเป็นที่พึ่งแห่งตน สร้างตนเป็นที่พึ่งของสังคมได้อย่างสง่างาม สมกับเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอย่างภาคภูมิ
รศ.สายัณ กล่าวต่อว่า การจัดโครงการครั้งนี้ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้ พร้อมจัดกิจกรรมภาคปฎิบัติให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะอาจารย์ที่ปรึกษาให้สามารถนำเครื่องมือวิศวกรสังคมประกอบด้วย เครื่องมือ ฟ้าประทาน, นาฬิกาชีวิต ,ไทม์ไลน์พัฒนาการ,ไทม์ไลน์กระบวนการ และM.I.C. model เป็นต้น นำไปประยุกต์ใช้ในรายวิชาที่สอนได้ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญของเครื่องมือดังกล่าว เพื่อช่วยทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถตั้งคำถามอย่างสงสัยใคร่รู้ (5W 1H) ขณะเดียวกันต้องการให้ทุกคนเข้าใจและเคารพวิถีชีวิตของเพื่อนร่วมงานและคนในชุมชน ตลอดจนสามารถเลือกเวลาและประเด็นการมีส่วนร่วมได้อย่างเหมาะสม (Put the right man to the right job)
รองอธิการบดี มบส. กล่าวอีกว่า สำหรับเครื่องมือฟ้าประทาน หมายถึงเครื่องมือที่มุ่งสร้างทักษะวิธีคิด และทำความเข้าใจความหลากหลายของสังคม มุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมอบรมเข้าใจว่า ปรากฎการณ์ในโลกใบนี้เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายเกิดขึ้น ในบริบทของการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่แตกต่างกันไปตามชุดประสบการณ์สภาพแวดล้อม สังคม และ วัฒนธรรม ส่วนเครื่องมือนาฬิกาชีวิต เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการทำความเข้าใจจังหวะการดำเนินชีวิต รูปแบบการกระทำ และเหตุผลของการกระทำของผู้คน เป็นวิธีการเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ว่าในแต่ละช่วงวัน แต่ละเดือน แต่ละปี ผู้คนในชุมชนมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตต่าง ๆ อย่างไรบ้าง ทั้งนี้หวังว่ากระบวนการวิศวกรสังคมจะเพิ่มทักษะ นักคิดวิเคราะห์ นักสื่อสาร นักประสานและนักนวัตกร ให้อาจารย์และบุคลากรได้เป็นที่ปรึกษา พี่เลี้ยง Coaching ให้แก่นักศึกษา หรือ แนะนําในการใช้ชีวิตทั้งในและนอกชั้นเรียนในสภาวะการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีได้.
#สายัณ พุทธลา##BSRU News#เครื่องมือวิศวกรสังคม#อจารย์ที่ปรึกษา#ดูแลนักศึกษาในนอกชั้นเรียน#