ข่าวเศรษฐกิจ, การเงิน - กลุ่มผู้เสียหาย ลงทุนSTARK 1,759 ราย เดินหน้าร้องขอ TIA ช่วยเหลือ ด้านค่าใช้จ่าย ดำเนินการฟ้องตามช่อง Class Action หลังอาสา เป็นศูนย์กลางในการรวมผู้เสียหาย พร้อมร้อง กลต.- ตลาดหลักทรัพย์ เร่งคดี- แก้
สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 ก. ค 2566 กลุ่มผู้เสียหายที่ลงทุนในหุ้นสามัญของ บริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) ที่ได้ลงทะเบียนเป็นผู้ได้รับความเสียหาย กว่า 1,759 ราย ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง TIA เพื่อขอให้สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) อาทิ ค่าวิชาชีพทนายความ ฯลฯ ตลอดจนค่าดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากผู้เสียหายได้สูญเสียเงินลงทุนและหรือเงินออมไปเป็นจำนวนมากแล้ว และเพื่อให้การดำเนินการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่ม ดำเนินไปตามลำดับได้อย่างรวดเร็ว ราบรื่น และประสบความสำเร็จในที่สุด ซึ่งจะเป็นการเยียวยาและสร้างความยุติธรรมให้กับผู้ลงทุนรายบุคคล
"ผู้เสียหายที่เป็นผู้ลงทุนรายบุคคลเข้าลงทะเบียนไว้ทั้งสิ้นจำนวน 1,759 ราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากรณีนี้ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุนรายบุคคลจำนวนมากและเป็นวงกว้าง"
ทั้งนี้ทางสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยรับพิจารณาในการดำเนินการ เพื่อให้ความช่วยเหลือตามที่ตัวแทนผู้เสียหายหุ้นสามัญ STARK ร้องขอมาเป็นลำดับไป
นอกจากนี้กลุ่มผู้เสียหายลงทุนหุ้น สามัญ STARK ยังได้ยื่นหนังสือถึงหน่วยงานในตลาดทุน ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) เร่งดำเนินคดี เพราะการกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลทั้ง 10 ราย เข้าข่ายความผิดหลายมาตราของ พรบ.หลักทรัพย์ ซึ่งให้อำนาจ ก.ล.ต. ในการใช้มาตรการลงโทษผู้กระทำความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง กลุ่มผู้เสียหายจึงขอเรียกร้องให้ ก.ล.ต. ดำเนินมาตรการลงโทษทั้งทางอาญาและทางแพ่งขั้นสูงสุด พร้อมทั้งขอคำแนะนำถึงช่องทางที่ ก.ล.ต. จะสามารถช่วยเหลือบรรเทาเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ลงทุนรายบุคคลเหล่านี้ รวมถึงขอให้ทบทวน กฎเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส ชัดเจน และระบบการบริหารงานที่มีธรรมาภิบาลของบริษัทที่จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหลาย ตลอดจน ยกระดับการกํากับ ตรวจสอบ และแจ้งเตือนผู้ลงทุนถึงความผิดปกติที่จะ มีผลต่อราคาและการซื้อขายหลักทรัพย์ให้ทันท่วงที คืนความมั่นใจ ให้ผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่นในการใช้ข้อมูลที่เปิดเผยต่อ ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อการตัดสินใจได้อย่างเป็นธรรมไม่ตกเป็นเหยื่อของการทุจริต รวมถึงเรียนรู้และใช้ พฤติกรรมการฉ้อฉลในกรณี STARK เป็นกรณีศึกษาในการปรับปรุงหรือแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การ ยกระดับมาตรฐานการกํากับดูแลความโปร่งใสของ บริษัทจดทะเบียน ทำให้ตลาดหลักทรัพย์เป็นแหล่งระดมทุนที่มีประสิทธิภาพ อย่างยั่นยืน เป็นฟันเฟืองสำคัญ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ