ข่าวธุรกิจ, สังคม - PDPC แจง กรณี หนุ่มวิศวะโพสต์ขายข้อมูลส่วนบุคคล 2 ล้านรายชื่อ ชี้รับโทษหนัก ผิดกฎหมายหลายบท
จากกรณี ตำรวจไซเบอร์จับ หนุ่มวิศวะ โพสต์ขายข้อมูลส่วนบุคคล 2 ล้านรายชื่อ ซึ่งเป็นข้อมูลผู้ลงทะเบียนเข้าใช้เว็บไซต์พนันออนไลน์ โดยได้มาจากการเป็นแอดมินเว็บดังกล่าว และนำไปขายในช่องทางเฟซบุ๊กกลุ่มปิด ที่ขายสินค้า และบริการผิดกฎหมาย เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เลขาธิการฯ สคส. ย้ำเตือนประชาชน อย่าให้ข้อมูลกับบริการที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงในการถูกนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด
นายศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สคส. (PDPC) กล่าวถึงกรณีกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) ตรวจสอบพบกลุ่มเฟซบุ๊กแบบปิด (Private Group) นำเสนอซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า และสิ่งของที่ผิดกฎหมายต่าง ๆ มีสมาชิกประมาณ 100,000 บัญชี โดยมีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความประกาศขายฐานข้อมูลของลูกค้ากลุ่มการพนันออนไลน์ ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัญชีธนาคาร รวมถึงไลน์ไอดีของลูกค้า 2,000,000 รายชื่อ จึงได้ทำการสืบสวนสอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐาน ตรวจสอบความเชื่อมโยง และพิสูจน์จนทราบตัวผู้กระทำผิด โดยในวันที่ 14 ก.ค.2566 ที่ผ่านมา ได้จับกุมตัวนายผดุงเกียรติ อายุ 28 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาล จังหวัดภูเก็ต ในความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 รวมถึง พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ.2478 และ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (PDPA)
นายศิวรักษ์ กล่าวเตือนประชาชนว่า ไม่ควรให้ข้อมูลส่วนตัวเพื่อใช้บริการที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงในการถูกนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด และเมื่อข้อมูลส่วนบุคคลนั้นถูกนำไปเผยแพร่หรือขายต่อ ผู้ถูกละเมิดอาจไม่อยากออกมาร้องเรียนเพราะจะผิดกฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ. การพนันฯ ทั้งนี้ การใช้และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตาม PDPA ต้องได้ข้อมูลมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหมายถึง การได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลโดยตรง หรือ เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ได้มาจากสัญญาใช้บริการ หรือได้มาตามหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ
บริษัท องค์กร หรือคนที่ซื้อข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เสี่ยงทำผิดกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ. การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) พ.ร.บ. การพนัน (กรณีข้อมูลจากเว็บพนัน) พ.ร.บ. ทรัพย์สินทางปัญญา (กรณีข้อมูลจากเว็บขายสินค้าปลอม) ถ้าผู้ขายของออนไลน์หรือบริษัทซื้อข้อมูลจากแหล่งที่ผิดกฎหมายแล้วนำไปใช้ติดต่อหาลูกค้า อาจถูกฟ้องร้องทางแพ่งและร้องเรียนทางปกครอง นอกจากนี้ หากข้อมูลที่ซื้อมาเป็นข้อมูลสุขภาพ หรือ ประวัติอาชญกรรม แล้วนำไปหาประโยชน์เพื่อกิจการของตน ก็อาจเข้าข่ายมีโทษทางอาญาด้วย
นายศิวรักษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ทาง สคส. ได้ดำเนินการเชิงรุกในการร่วมมือกับตำรวจไซเบอร์ กรณีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูล และองค์ความรู้ในด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมทั้งร่วมวางแผนดำเนินงานวิจัย การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะพัฒนาร่วมกันในอนาคต เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับข้อมูลด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และความปลอดภัยทางไซเบอร์ อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
สำหรับช่องทางติดต่อ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อขอคำปรึกษา ยื่นคำร้องเรียน หรือส่งหนังสือราชการ ได้ที่ Email saraban@pdpc.or.th หรือ www.pdpc.or.th และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมในวันและเวลาราชการได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-142-1033 และ 02-141-6993