ข่าวการเกษตร - “บ้านนนทรี” เกษตรปราจีนบุรี มีผลไม้ปลอดสาร ด้วยเกษตรอินทรีย์แบบเต็มรูปแบบ และเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยระบบ QR Trace On Cloud
“บ้านนนทรี” การทำเกษตรแบบผสมผสานมีทั้งไร่องุ่น สวนทุเรียน ส้มโอ มังคุด เงาะ พืชพรรณต่าง ๆ อีกมากมาย โดยเป็นเกษตรอินทรีย์แบบเต็มรูปแบบที่ผลลัพธ์ของสวนฝากไว้กับธรรมชาติมากถึง 50% นอกจากนั้นยังมีศูนย์อนุรักษ์ไก่ป่าหูขาวที่เปิดรับนักท่องเที่ยวให้เยี่ยมชม โดยบริเวณศูนย์รายล้อมด้วยต้นไม้นานาพรรณและสระน้ำช่วยผ่อนคลายสบายอารมณ์ และที่ห้ามพลาดคือจักสานป้าสำเภาจากปราชญ์ชุมชนที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องงานหัตถกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ก่อนกลับก็ต้องแวะซื้อเป็นฝากของติดไม้ติดมือ!
“นายไพจิตร จอมพันธ์” เกษตรกร ม.8 ต.นนทรี อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ได้กล่าวไว้ว่า “ณ ตอนนี้ในสวนของเรามีผลไม้หลากหลายชนิด แต่หลัก ๆ จะเป็นทุเรียน มังคุด ส้มโอ และเงาะ ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบโดยอยู่ภายใต้การดูแลของ “นางบุญลือ จอมพันธ์” โดยนางบุญลือทำสวนเกษตรอินทรีย์มาแล้วกว่า 15 ปี ผลลัพธ์ของสวนทั้งหมดพวกเราฝากไว้กับธรรมชาติมากถึง 50% เพราะจะใช้มูลสัตว์ อาทิเช่น มูลควาย มูลวัว มูลไก่ ซึ่งเป็นปุ๋ยธรรมชาติ ถ้าถามว่าความยากในการปลูกขนาดไหนก็คือทุกอย่างมันจะเป็นไปตามธรรมชาติเราไม่สามารถควบคุมได้ แต่ความง่ายคือมันไม่มีอะไรซับซ้อน ทำครั้งเดียวจบ และผลไม้ปลอดสารแบบ 100% ซึ่งผลไม้ในสวนของเราจะไม่มีขายตามท้องตลาด จะเป็นระบบจองล่วงหน้าเท่านั้น เช่นจองปีนี้
ต้นนี้ ได้กินอีกทีก็คือปีหน้า นอกจากนี้สวนของพวกเรายังเปิดรับนักท่องเที่ยวให้ร่วมเข้าชมสวนประจำหมู่บ้าน ชมศูนย์อนุรักษ์ไก่ป่าหูขาว ชมงานหัตถกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งจะมี “นายยุทธ อร่ามเรือง” ผู้ใหญ่บ้าน ม.8 และทีมงานให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่ตลอดทั้งปี”
เคล็ดลับการเพิ่มมูลค่าผลไม้อีกอย่างหนึ่งที่นอกจากจะทำให้ผลไม้มีแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือแล้ว ยังทำให้ชุมชนเป็นที่รู้จักอีกด้วย “นายไพจิตร” กล่าวไว้ว่า “ตั้งแต่ได้ทดลองใช้ระบบ QR Trace on Cloud ก็ทำให้สินค้ามีมูลค่ามากขึ้น มูลค่าที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องเงินแต่อย่างใด แต่เป็นมูลค่าทางจิตใจที่สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้บริโภค และเพิ่มการตัดสินใจซื้อสินค้าของเราได้ง่ายขึ้น ซึ่งต้องบอกก่อนว่าระบบ QR Trace on Cloud เป็นระบบที่คนยุคเก่าอาจจะไม่รู้จัก แต่คนยุคใหม่อย่างเรา ๆ รู้แน่นอน เพราะเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปการสื่อสารก็ต้องล้ำสมัยมากขึ้น ผมว่าข้อดีมันอยู่ตรงที่ว่าถ้าคนรุ่นใหม่ไปเดินห้างสรรพสินค้าแล้วเจอสินค้าที่ติด QR Code วางขาย เพียงแค่สแกนก็จะทำให้ทราบถึงแหล่งที่มาการปลูก รวมถึงรู้ได้เลยว่าสวนนี้ได้รับการรับรองจากอะไรบ้าง ทำให้ตัดสินใจซื้อได้รวดเร็วกว่าเดิม นอกจากนั้นยังทำทำให้ผู้บริโภครู้จักชื่อสวนของเรา จังหวัดของเรา ทำให้เป็นที่คุ้นหูคุ้นตามากขึ้น มากพอที่จะต่อยอดให้มาเยี่ยมชมสวนของเราได้”
“ในส่วนของการสมัครและกรอกข้อมูลบนระบบ QR Trace on Cloud ผมว่าไม่ยากไม่ง่าย เนื่องจากผมพอมีพื้นฐานคอมพิวเตอร์บ้างอยู่แล้ว แต่ก็จะมีทาง มกอช. ที่ได้เข้ามาอบรมให้เบื้องต้นทั้งในส่วนสมัคร การเตรียมข้อมูลที่จะกรอกลงระบบ การกรอกข้อมูล การสร้าง QR Code ไปตลอดจนถึงการพิมพ์ QR Code แปะลงบนสินค้าในชุมชน ซึ่งในส่วนของการเตรียมข้อมูลที่พวกเราชาวเกษตรจะต้องเตรียมเป็นหลักก็คือภาพถ่ายสินค้า ภาพถ่ายเกษตรกร ที่ตั้งสวน ใบรับรองที่มาจากมาตรฐานของการชี้วัดในผลไม้ของเราที่จะทำ ซึ่งในสวนนี้จะมีใบรับรองเครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นทุเรียนอินทรีย์ในระบบ GI ลำดับที่ 17 ของจังหวัดปราจีนบุรี เป็นต้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่เกษตรกรมีอยู่แล้ว เพียงแค่นำมากรอกลงในระบบเท่านั้นเอง ซึ่งในมุมมองของผมระบบ QR Trace on Cloud ในปัจจุบันค่อนข้างสำคัญต่อการสร้างความน่าเชื่อถือมาก ๆ และเพิ่มความสะดวกสบายในการสืบแหล่งที่มาให้ผู้บริโภคได้รับรู้ทำให้ตัดสินใจซื้อสินค้าได้รวดเร็ว และหากต้องการติดต่อเกษตรกรโดยตรงก็สามารถติดต่อได้เลยทันที”
“ทั้งนี้ ผมอยากจะชวนพี่น้องเกษตรให้มาทำ QR Trace on Cloud เพราะนอกจากจะทำให้ทราบแหล่งที่มาของสินค้าแล้ว ยังเป็นการยกระดับของสินค้าเราเพิ่มขึ้นอีกขั้นด้วย โดยภายใต้การสมัครระบบจะมีเจ้าหน้าที่จากทางหน่วยงานคอยให้คำปรึกษาตลอด ไม่ต้องห่วงเรื่องใช้งานไม่เป็น หรือใช้งานยากเลย บอกเลยว่าได้ประโยชน์ทั้งตัวเกษตรกรและตัวผู้บริโภคแน่นอน”
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้พัฒนาระบบการตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace on Cloud) เพื่อให้เกษตรกรรายย่อย กลุ่มเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน รวมถึงผู้ประกอบการ นำระบบไปใช้งานในการจัดเก็บข้อมูลที่มาที่ไป รวมถึงข้อมูลการผลิต เพื่อใช้ในการตามสอบสินค้าเกษตร สามารถบริหารจัดการการผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำข้อมูลที่จัดเก็บไปสร้าง QR Code สำหรับเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงข้อมูลตามสอบสู่ผู้บริโภค รองรับสินค้าเกษตรในกลุ่มผัก ผลไม้ ข้าว ปศุสัตว์ ไข่ ประมง สินค้าแปรรูป
ซึ่งที่ผ่านมา มกอช. ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรมีการใช้ระบบ QR Trace on Cloud อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการในภาคการเกษตรและอาหารของไทย ให้สามารถแข่งขันทางการค้าและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ หากท่านใดมีความประสงค์ใช้งานระบบ QR Trace on Cloud สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) โทร. 02-5794986